zero-carbon

วิกฤต Climate Change ซ้ำเติมความยากจนร้ายแรง-เหลื่อมล้ำพุ่ง

    วิกฤต Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ทำให้สูญเสียรายได้ ทรัพย์สิน ซ้ำเติมปัญหาความยากจนร้ายแรง เพิ่มความเหลื่อมล้ำในประเทศ เช็คทางออกของปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานโครงการติดตามประเมินผลช่วงครึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม หนึ่งในนั้นมีการแจ้งถึงมาตรการป้องกันผลกระทบของ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของไทยว่ามีอะไรคืบหน้าไปบ้าง

โดยการรายงานมาตรการป้องกันผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อยู่ภายใต้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการยกระดับการมีส่วนร่วมในกระบวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผลการประเมินบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่ตัวชี้วัดจำนวนมากอาจไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้เมื่อถึงช่วงเวลาสิ้นสุดแผนฯ 12 

โดยน่าจะเป็นผลจากกระบวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะหลังขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานล่าง จึงเป็นความเร่งด่วนที่จะต้องมีนโยบายและมาตรการเพื่อยกระดับการมีส่วนในกระบวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเรื่องของ Climate Change สศช. มีข้อเสนอดังต่อไปนี้

 

ภาพประกอบข่าว วิกฤต Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย

Climate Change ซ้ำยากจน-เหลื่อมล้ำ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ ทรัพย์สิน รวมถึงทุนมนุษย์ด้วย ทั้งนี้ประชาชนแต่ละกลุ่มนั้นได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่เท่ากัน โดยคนจน ผู้มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจไม่ดี คนชายขอบ มักจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนกลุ่มอื่น 

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนอกจากจะทำให้ปัญหาความยากจนร้ายแรงขึ้นแล้ว ยังเพิ่มความเหลื่อมล้ำในประเทศด้วย ทำให้กลุ่มเปราะบางยิ่งมีความเปราะบางมากกว่าเดิม หรือก็คือมี Resilience ต่ำลงหลังจากเกิดอุบัติภัย 

นอกจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นแล้ว ความเหลื่อมล้ำในสังคมยังมีผลทำให้ปัญหาการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้นรุนแรงมากขึ้นด้วย เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ระหว่างความเหลื่อมล้ำและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศขึ้นด้วย 

นโยบายเกี่ยวกับ Climate Change

ด้านนโยบายเกี่ยวกับการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น สามารถแบ่งนโยบายได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  1. การลดระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ (mitigation) เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน การอุดหนุนพลังงานทดแทน การฟื้นฟูป่าและทะเล เป็นต้น
  2. การปรับตัว (adaptation) เช่น การสร้างระบบเตือนภัย การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดความเสียหายจากอุบัติภัย การปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเพิ่มการเข้าถึงบริการทางแพทย์ อาหาร และน้ำสะอาด เป็นต้น

 

ภาพประกอบข่าว วิกฤต Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย

การแก้ปัญหา Climate Change ของไทย

ประเทศไทยได้มีการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและได้ร่วมให้สัตยาบันเป็นภาคีในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต และภาคีความตกลงปารีส ในนโยบายระดับประเทศ 

รัฐบาลได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรจุปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ ฉบับที่ 11 รวมถึงได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นด้วย 

ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการดำเนินนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมทั้งการลดระดับก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัว เช่น ระบบการเตือนภัยล่วงหน้า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย การใช้มาตรการทางการคลังเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน โครงการประกันภัยพืชผล เป็นต้น

ข้อเสนอรับมือ Climate Change

สศช.มีข้อเสนอแนะให้รัฐดำเนินการอย่างแข็งขันทั้งในด้านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก Climate Change และการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือและปรับตัวให้กับประชาชนทุกกลุ่มต่อไป และควรให้ความสนใจกับคนยากจน คนชายขอบ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ และเนื่องจากความเหลื่อมล้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบซึ่งกันและกัน 

ขณะที่ การดำเนินนโยบายด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงต้องมีการคำนึงถึงผลกระทบของนโยบายต่อ Resilience ของประชาชนแต่ละกลุ่มและความเหลื่อมล้ำด้วย และดำเนินนโยบายด้วยความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายทั้งในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม 

รวมทั้งการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือและปรับตัว และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน และเลือกการผสมผสานนโยบาย (policy mix) ที่เหมาะสมกับสถาณการณ์ในประเทศไทย เมื่อจำเป็นต้องมีการ trade-off ขึ้นระหว่างเป้าหมาย

 

ภาพประกอบข่าว วิกฤต Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย

 

ตัวอย่างมาตรการที่เข้ามารับมือ

ตัวอย่างมาตรการที่สามารถเพิ่มความสามารถในการรับมือและปรับตัวของประชาชนกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ ได้แก่

  • การพัฒนาส่งเสริมระบบการเงินระดับฐานราก (Microfinance) เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึง การออม เงินกู้ และการประกันภัยได้มากขึ้น
  • การนำเอาเทคโนโลยีดาวเทียมเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงการบรรเทาภัยพิบัติธรรมชาติสำหรับชาวนาและเกษตรกร ซึ่งจะช่วยลดการตกหล่น เพิ่มความรวดเร็วของกระบวนการ และลดต้นทุนของการตรวจสอบ
  • การร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อให้สามารถแจ้งเตือนและให้คำแนะนำกับประชาชนได้อย่างทันท่วงที และครอบคลุม เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ
  • การปรับปรุงระบบการคุ้มครองทางสังคมให้สามารถคุ้มครองประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น และอาจนำเอาการคุ้มครองทางสังคมมาบูรณาการทั้งในขั้นตอนของการออกแบบมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติงานร่วมกันกับมาตรการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction : DDR) และนโยบายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation: CCA) 

ทั้งนี้เป็นนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เกิดเป็น Adaptive Social Protection เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือและปรับตัวของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่และได้รับความสนใจและมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในต่างประเทศ