ถอดบทสรุป เวที CED 7 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

05 เม.ย. 2566 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2566 | 06:37 น.

ถอดบทสรุป เวที การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสมัยที่ 7 หรือ CED 7 ระดับรัฐมนตรี รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ

ปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นหัวข้อสำคัญของการหารือกันของบรรดาผู้นำ รัฐมนตรี และระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหลายประเทศ เพื่อหาทางรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนโลกของเรา ซึ่งนับวันจะค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาในเวที การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสมัยที่ 7 หรือ CED 7 ระดับรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายปี 2565 ที่ประเทศไทย ภายใต้หัวข้อหลัก “Protecting our planet through regional cooperation and solidarity in Asia and the Pacific” 

ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สรุปผลการประชุม CED 7 รายงานเข้ามายังครม. ซึ่งความสำคัญของการประชุม CED 7 จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา เป็นหนึ่งในคณะกรรมการย่อยของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific : ESCAP) แห่งสหประชาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิก 53 ประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส

ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ผ่านการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

รวมถึงปัญหามลพิษข้ามแดนที่สำคัญโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่จำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยการกำหนดนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกร่วมกันทบทวนการดำเนินงานตามปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่รับรองเมื่อปี 2560 พร้อมทั้งหารือการดำเนินงานเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคร่วมกัน

การประชุมระดับรัฐมนตรี

ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อแก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ และการดำเนินงานเพื่อบรรลุการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 

รวมถึงปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่มากเกินไป การทำลายถิ่นที่อยู่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชนิดพันธุ์รุกราน ทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ และปัญหาทางมลพิษ เช่น มลพิษจากขยะมูลฝอยและพลาสติกที่ส่งผลกระทบขยายไปถึงระบบนิเวศทางทะเล 

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านนโยบายและแนวปฏิบัติสำหรับการแก้ปัญหาที่อิงจากธรรมชาติ (Nature based Solutions) เพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มความพยายามในการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องเสริมสร้างความสอดคล้องของนโยบาย การทำงานร่วมกัน และกรอบกฎหมายเพื่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

ปฏิญญาปกป้องโลกของเรา

จากผลการหารือที่ประชุมยังได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ 

1. ปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการปกป้องโลกของเรา

เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การลดมลพิษทางอากาศ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การยกระดับเข้าถึงข้อมูลและกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของสาธารณชน 

รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และเน้นย้ำบทบาทของ ESCAP ในการสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ประเทศสมาชิกเสริมสร้างขีดความสามารถการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม 

2. แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคฯ (เป็นภาคผนวกของปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ) 

เพื่อตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ รวมทั้งร่วมกันหาแนวทางในการตอบสนองต่อความท้าทายด้านมลพิษทางอากาศ ระดับภูมิภาค 

สำหรับเอกสารทั้ง 2 ฉบับ มีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐนตรีให้ความเห็นชอบไว้แล้ว เช่น การเพิ่มประเด็นการแบ่งปันข้อมูลแบบเปิด ที่เกี่ยวกับการจัดการคุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 

เช่นเดียวกับการปรับถ้อยคำในเรื่องของกลไกทางการเงินโดยเป็นการเน้นย้ำการดำเนินงานผ่านกลไกความร่วมมือและแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของ ESCAP ให้ชัดเจนเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม 

สำหรับการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก รวมถึงไทย ในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ในประเด็นท้าทายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามบริบทและขีดความสามารถของแต่ละประเทศสมาชิก บนพื้นฐานของความสมัครใจ