zero-carbon

กรุงไทย ดันแผนบริการทางการเงินรองรับ Climate Change

    ธนาคารกรุงไทย ประกาศแผนยุทธศาสตร์หลัก 5 ปี (2566-2570) หนึ่งในนั้นพร้อมดันแผนบริการทางการเงินยุค Climate Change เตรียมพร้อมแพลตฟอร์มกลางแลกเปลี่ยนเรื่องคาร์บอนเครดิตรับอนาคต

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้กำหนดแผนงานในระยะเวลา 5 ปี (2566-2570) จะดำเนินงานภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก หนึ่งในนั้นคือ เรื่องของความยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไปสู่บริการทางการเงินที่ทั่วถึง หรือ Financial Inclusion

สำหรับสิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มวางแผนและลงมือทำก่อน คือการลดใช้พลังงานในอาคาร การใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขณะเดียวกันยังต้องจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนด้วย

“ผลิตภัณฑ์ตอนนี้มีแต่ต้องดูโครงสร้างของระบบต่าง ๆ ของไทยยังมีอีกหลายตอน เช่น ใบรับรองคาร์บอนเครดิตของไทยที่ต้องได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป ตอนนี้ธนาคารกำลังทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. อยู่ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ตอนนี้ยังไม่สามารถทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ แต่จากนี้ไปต้องดู ธปท. จะเปิดอย่างไร” นายผยง ระบุ

 

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

3 เรื่องที่ต้องเตรียมพร้อม

นายผยง ระบุว่า ในส่วนของความพร้อมของธนาคาร ได้กำหนดแนวทางรองรับสำคัญไว้ 3 เรื่อง คือ

  1. การเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการ
  2. การเตรียมความพร้อมผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า
  3. การเตรียมพร้อมแพลตฟอร์มกลางในการแลกเปลี่ยนเรื่องคาร์บอนเครดิต 

 

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

แผน 5 ปี 7 ยุทธศาสตร์หลัก

ธนาคารกรุงไทย กำหนดแผนงาน 5 ปี  ระหว่างปี 2566-2570  ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้

1.ปลดล็อคศักยภาพในการสร้างมูลค่าจากการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้า (X2G2X) โดยเร่งต่อยอดยุทธศาสตร์ X2G2X ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ รวมถึงมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คู่ค้าของลูกค้า สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากแอปพลิเคชัน เป๋าตัง และถุงเงิน เช่นเดียวกับเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SME ให้แข็งแกร่ง 

2.ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ และการใช้ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น ลดการใช้กระดาษนำไปสู่โครงสร้างการประเมินอัตรากำลังที่เหมาะสมในการให้บริการผ่านสาขา โดยมีสาขาใหม่ที่ทันสมัยประมาณ 20 สาขา ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ เช่น ชลบุรี และเชียงใหม่ 

3.เปิดตัวแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างการเติบโตในมิติใหม่ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่สามารถ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร ทั้ง Virtual Banking ที่ธนาคารจะร่วมกับพันธมิตร เพื่อดำเนินการ และโฟกัสไปที่ Wealth-Tech เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินในทุกระดับชั้น ต่อยอดสร้างศักยภาพการออม 

4.การสร้างความยั่งยืนตอบโจทย์เรื่อง Climate Change สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG  สนับสนุนประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง เชื่อมโยงกลุ่มลูกค้า SME กับเศรษฐกิจดิจิทัล และเร่งปรับตัวเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve  

5.พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานแห่งอนาคต โดยเร่งสร้างการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านความพร้อมของระบบรองรับ PDPA & Cyber Risk เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม บริหารจัดการ NPL และ NPA เพื่อแก้ปัญหาปรับเป็นสินทรัพย์  

6.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และ Digitalization อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับโครงสร้างเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย มั่นคง ปลอดภัย มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งแต่ละปีจะกำหนดวงเงินลงทุนด้านไปทีไว้ประมาณ 12,000 ล้านบาท

7.ปฏิรูปวัฒนธรรมและปลูกฝังวิธีการทำงานแบบใหม่ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคล่องตัว ปรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ให้คล่องตัว มีความกระฉับกระเฉง ยกระดับพนักงานให้มีทักษะใหม่ สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในระดับประเทศและระดับโลกเข้ามาทำงานเสริมสร้างความแข็งแกร่ง  

คุม NPL ไม่ให้เกินกว่า 3.5 %

ธนาคารกรุงไทย ยังเตรียมบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) และสินทรัพย์รอการขาย (NPA) จากปัจจุบันยังมีอยู่ค่อนข้างสูง และแนวโน้มยังมีแนวโน้มที่ลูกหนี้จะตกชั้นเพิ่มเติม ข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 มีสัดส่วน NPL อยู่ที่ระดับ 3.3% ลดลงจากช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ระดับ 3.6% ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งธนาคารจะพยายามคุม NPL ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3.5%