zero-carbon

ดาวเทียม THEOS-2 กับภารกิจจัดการ "คาร์บอนเครดิต" แบบตรงเป้า

    ทำความรู้จักถึงความสำคัญของดาวเทียมสำรวจ THEOS-2 กับภารกิจจัดการ "คาร์บอนเครดิต" ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการส่งเสริมตลาดการขาย Carbon Credit ของประเทศไทย

ดาวเทียม THEOS-2 นับเป็นดาวเทียมสำรวจสำคัญดวงแรกของประเทศไทย ซึ่งวิศวกรดาวเทียมไทยได้มีส่วนสำคัญในออกแบบและพัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลก ด้านเทคโนโลยีอวกาศ

มีจุดเด่นคือการให้รายละเอียดภาพสูงขึ้นกว่าเดิม สามารถนำมาใช้ในการจัดการ "คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยจุดเด่นของ THEOS-2 จะช่วยยกระดับการประเมินพื้นที่ป่า เพื่อนำไปคำนวณการกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และถือว่ามีบทบาทสำคัญในการในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการส่งเสริมตลาดการขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย

ประเมินพื้นที่ป่ากักเก็บคาร์บอน

ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุข้อมูลว่า ดาวเทียม THEOS-2 จะทำหน้าที่ประเมินขนาดพื้นที่ป่า ประเภทป่าและคำนวณว่าพื้นนี้นั้น ๆ กักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่

ทั้งนี้เมื่อทราบปริมาณที่กักเก็บได้แล้วใจะรู้ถึงปริมาณคาร์บอนเครดิตที่มีสามารถนำไปบริหารจัดการ หรือใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนของแต่ละองค์กรที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตไว้ลดต้นทุนจากภาษีคาร์บอนได้

ขณะเดียวกันดาวเทียม THEOS-2 ยังช่วยหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกต้นไม้หรือป่าเสื่อมโทรมเพื่อเข้าไปฟื้นฟู พัฒนา เพื่อให้สามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

ทำงานร่วมกับชุมชนดูแลป่า

ปัจจุบัน ตลาดคาร์บอนเครดิต นอกเหนือไปจากองค์กรต่าง ๆ แล้ว ยังมีผู้ขายคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ ผ่านการทำงานร่วมกันของหน่วยงานและชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า เพื่อให้ชาวบ้านได้รับค่าตอบแทนจากการดูแลป่าไม้ 

ตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ โครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนเพื่อความยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพันธมิตร เพื่อเปลี่ยนการขยายที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรให้เป็นการดูแลป่า เป็นการร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดย ภาครัฐ ดูแลเรื่องกฎหมายในการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน

ส่วนภาคเอกชน สนับสนุนทุน ขณะที่ชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการดูแลป่า โดยมีผลที่ได้คือ การกักเก็บคาร์บอน และสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย

แหล่งที่มาข้อมูล : คติวิช กันธา นักภูมิสารสนเทศชำนาญการพิเศษ ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม