เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 13 ดันอีวี 5 ปี ดึงลงทุน 1. 3 แสนล้าน

13 พ.ย. 2565 | 15:38 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2565 | 22:56 น.
597

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ดันยานยนต์ไฟฟ้าสุดลิ่ม ตั้งเป้า 5 ปี ดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน หนุนไทย เป็นฮับอีวีของอาเซียน และติด 1 ใน 10 ของโลก อัดมาตรการส่งเสริมการใช้และผลิต คาดปี 2570 มีอีวีจดทะเบียนใหม่ 2.2 แสนคัน และอีวีดัดแปลง 4 หมื่นคัน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2570 โดยได้กำหนดทิศทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้ประเทศสามารถก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่ง 1 ใน 13 หมุดหมาย ที่สำคัญมีเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก และยังช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่กำหนดไว้ในปี 2573 อีกทางหนึ่งด้วย

 

ในแผนการพัฒนาฯดังกล่าว ได้มุ่งเน้นการพัฒนายานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ประกอบด้วย ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง และได้ตั้งเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 จำนวน 4.4 แสนคันหรือ 50% ของยานยนต์ทั้งหมด และเป้าหมายการผลิตจำนวน 7.25 แสนคัน หรือ 30% ของยานยนต์ทั้งหมด

 

โดยมีการผลิตชิ้นส่วนหลักไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตยานยนต์แบบสันดาปภายในให้เป็นยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ไม่ละทิ้งตลาดส่งออกที่มีศักยภาพจากฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม เพื่อรักษาความสมดุลในการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และรักษาระดับขีดความสามารถในการผลิตยานยนต์ให้เทียบเท่าหรือมากกว่า 2 ล้านคันต่อปี รวมทั้งยกระดับผู้ประกอบการชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมในระดับต่าง ๆ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้

 

เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 13 ดันอีวี 5 ปี ดึงลงทุน 1. 3 แสนล้าน

 

ทั้งนี้ การดำเนินงานในระยะ 5 ปี หรือภายในปี 2570 ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่จดทะเบียนใหม่ ประกอบด้วย รถยนต์ประเภทยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง จำนวน 282,240 คัน คิดเป็น 26 % ของยานยนต์ทั้งหมด และมีปริมาณการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์) จำนวน 380,250 คัน คิดเป็น 17 % ของยานยนต์ทั้งหมด

 

รวมถึงมีปริมาณรถยนต์ที่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4 หมื่นคัน และตั้งเป้าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี หรืออัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้น 5 % ต่อปี

 

ขณะที่การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเดิม สามารถปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและมีการลงทุนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญภายในประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ในอาเซียน และอยู่อันดับ 1 ใน 10 ของโลก ได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรวมไม่น้อยกว่า 1.3 แสนล้านบาท มีจำนวนผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 14 ราย และเกิดการลงทุนเทคโนโลยีสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยสัดส่วนจำนวนผู้ประกอบการเดิมที่สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น 10 % มีจำนวนแรงงานเดิมที่ได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าและเข้ามาเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มขึ้น 5 พันคน

 

พร้อมทั้ง สร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ที่ตั้งเป้าหมายการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์เพิ่มขึ้น 20% ต่อปี มีแรงงานได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านยานยนต์ไฟฟ้ามีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน ภายในปี 2570  มีจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ/หัวจ่ายชาร์จเร็ว เพิ่มขึ้น 5 พันหัวจ่าย ภายในปี 2570 มีจำนวนมาตรฐานด้านคุณสมบัติและความปลอดภัยของชิ้นส่วนหลักทั้งหมดของยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 ฉบับต่อปีมลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5ไมครอน) และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่งลดลง 4%ต่อปี

 

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ผู้ใช้ยานยนต์ในภาคส่วนต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้ จะมีมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย มาตรการทางด้านภาษี อาทิ 1.การใช้ภาษีสรรพสามิต การยกเว้นหรือลดภาษีป้ายทะเบียนประจำปี 2.มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ ส่วนลดค่าไฟฟ้าในครัวเรือนและที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียมแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่จอดฟรีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุนสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้า และ 3.การให้เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนการใช้งานใกล้เคียงกับรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน

 

อีกทั้ง การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ หน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ในทุกประเภทของยานยนต์ไฟฟ้า โดยอาศัยกลไกการจัดซื้อที่มีการกำหนดเงื่อนไข ที่ส่งเสริมให้เกิดการผลิตในประเทศ หรือการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์

 

รวมทั้ง สนับสนุนให้ประชาชนดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสามารถจดทะเบียนได้ และส่งเสริมให้เกิดการสร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงชิ้นส่วนสำคัญภายในประเทศ เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อน ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ และระบบควบคุมการขับขี่ เป็นต้น และการกำหนดแนวทางการกำจัดซากรถยนต์ และซากชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้แล้วในประเทศไทย เพื่อรองรับทิศทางตลาดยานยนต์โลก และส่งเสริมแนวทางการนำวัสดุอุปกรณ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน