zero-carbon
903

กลุ่ม ปตท.ลุยสถานีชาร์จอีวี ปูพรม 8.5 หมื่นยูนิต - 7 พันแห่ง ปี 2573

    กลุ่มปตท.ลุยขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าปรับแผนปูพรมทั่วประเทศ โออาร์ดันก่อสร้าง 7 พันแห่ง ในและนอกสถานีน้ำมัน ส่วน อรุณ พลัส บุกทั้งศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร และที่อยู่อาศัยเพิ่มหัวชาร์จอีวี แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) 85,000 ยูนิต ภายในปี 2573

การปรับเป้าหมายของ ปตท. ใหม่ เพื่อจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีค.ศ. 2040 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปีค.ศ. 2050 รวมทั้งบริษัทในกลุ่มได้กำหนดเป้าหมายของบริษัทตามทิศทางการดำเนินงานของแต่ละบริษัทครบทั้ง 6 บริษัทเช่นเดียวกัน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย ที่ได้กำหนดที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปีค.ศ. 2065

 

ส่งผลให้กลุ่มปตท.ต้องปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ โดยเฉพาะกำหนดเป้าหมายระยะสั้นในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปีค.ศ. 2030 จากปีฐาน ค.ศ. 2020 เพื่อมุ่งไปสู่ Carbon Neutral ปี ค.ศ. 2040 ซึ่ง Portfolio Transformation : การลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ มุ่งไปสู่พลังงานแห่งอนาคต ถือเป็น 1 ใน 3 เสาหลัก ที่ต้องปรับแผนการดำเนินงานด้วย

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ที่มีการปรับเป้าหมายการดำเนินงานใหม่นั้น จะมุ่งเน้นไปที่การปรับแผนการดำเนินงานด้านการสร้างระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า ให้ครบวงจรเพิ่มมากขึ้น

 

โดยเฉพาะการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่ดำเนินงานผ่าน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ที่จะดำเนินงานติดตั้งให้บรรลุเป้าหมายปีนี้ที่ 450 แห่ง จากเดิม 350 แห่ง ที่แยกเป็นอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน 200 แห่ง และนอกสถานีบริการน้ำมัน 150 แห่ง ซึ่งมีการกำหนดแผนใหม่ว่า เมื่อถึงปี 2030 (พ.ศ. 2573) โออาร์จะมีสถานีชาร์อีวีรวมอยู่ที่ 7,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในสถานีบริการน้ำมันและนอกสถานีบริการน้ำมัน

 

กลุ่ม ปตท.ลุยสถานีชาร์จอีวี ปูพรม 8.5 หมื่นยูนิต - 7 พันแห่ง ปี 2573

 

ขณะที่การดำเนินงานของ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีนั้น ได้มีการปรับเป้าหมายการก่อสร้างสถานีชาร์จอีวี ผ่านแบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) โดยปี 2565 นี้ มีเป้าหมายการก่อสร้างสถานีชาร์จอีวี 1,350 ยูนิต ในพื้นที่ศักยภาพ ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร และที่อยู่อาศัย เป็นต้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของพฤติกรรมผู้บริโภคแห่งอนาคต โดยวางแผนใหม่ว่า เมื่อถึงปี 2030 จะมีสถานีชาร์จอีวีแบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ถึง 85,000 ยูนิต

นอกจากนี้ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ธุรกิจการให้บริการสลับแบตเตอรี่ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอชาร์จไฟ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจาะกลุ่มไรเดอร์ในธุรกิจจัดส่งอาหารและสินค้าที่เติบโตแบบก้าวกระโดด มุ่งเน้นออกแบบกระบวนการใช้งานให้ง่าย สะดวก และทันสมัย ปัจจุบันมีกว่า 30 สาขา ซึ่งมีแผนที่จะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุม 1,000 สาขา ภายในปี ค.ศ. 2024 รวมถึงธุรกิจให้บริการเช่าใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบของการสมัครสมาชิก (Subscription) ซึ่งมีรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายแบรนด์ให้เลือก ภายในปีนี้จะเพิ่มจำนวนให้ได้มากกว่า 500 คัน

 

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า การปรับเป้าหมายของการดำเนินงานดังกล่าว ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศให้กับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (EV Hub)

 

อีกทั้งสอดรับกับ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อรุณ พลัส จำกัด กับ Foxconn Technology Group บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกจากไต้หวัน ได้ลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 4 ล้อ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) มูลค่าลงทุน 36,100 ล้านบาท พื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยระยะแรกจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ ใช้เงินลงทุนราว 2.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าโรงงานจะเเล้วเสร็จและสามารถเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตที่ 50,000 คันต่อปี และระยะที่ 2 ลงทุนอีก 1.2 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คันต่อปี คาดโรงงานจะแล้วเสร็จในปี 2573