นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยในงานประชุมประจำปี 2565 ของสศช. พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกัน ร่วมขับเคลื่อนแผนฯ 13 สร้างอนาคตไทย ว่า ขณะนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) เตรียมจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถือเป็นแผนระยะที่ 2 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
“การเดินต่อไปจะต้องหาทางทำอย่างไรให้ทุกคนร่วมเดินหน้าให้แผนฯ 13 นำไปสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป้าหมายให้ประเทศไทนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเศรษฐกิจมั่นคงมากขึ้น การพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ความเหลื่อมล้ำลดลง และต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นายดนุชา กล่าว
สำหรับในช่วง 5 ปีจากนี้ สศช.ยอมรับว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านต่าง ๆ หลายด้าน ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาส และความเสี่ยงให้กับระเทศ ดังนี้
- การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตของคนไทย
- การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับอนาคตที่จะให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพลังงานสะอาดมากขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมสูงวัย ซึ่งในปี 2566 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรสูงอายุ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด
- ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ทั้งสงครามการค้า และความขัดแย้งในยุโรป ซึ่งไทยเองต้องหาจุดยืนให้ได้ในสังคมโลก
- ความเสี่ยงต่อด้านความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งไทยต้องปรับตัวให้ทันและรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ผ่านการพัฒนาการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี
- โรคอุบัติใหม่และภัยโรคระบาด เพราะในอนาคตจะมีโรคระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นแน่นอน จึงต้องเตรียมความพร้อมของระบบสาธารณสุขไว้รองรับ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมยา และวัคซีนในประเทศ
ทั้งนี้ตามแผนฯ 13 กำหนดเป้าหมายเอาไว้ 5 เป้าหมายสำคัญ ที่ต้องทำให้ได้ในช่วง 5 ปี ดังนี้
- การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม รายได้ต่อหัวคนไทยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาทต่อคนต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7 แสนบาทต่อคนต่อปี
- การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) อยู่ในระดับสูง
- การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและเป็นธรรม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคนรวยสุดและจนสุดจากปัจจุบัน 6 เท่า เหลือ 5 เท่า
- การเปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่า 20%
- การสร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยง ทั้งโรคระบาด สภาพภูมิอากาศ ดิจิทัล และประสิทธิภาพภาครัฐ
นายดนุชา กล่าวว่า ก้าวต่อไปของแผนฯ 13 ต้องแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนร่วมมือกัน เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีจากนี้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้