เปิดตัวเลขคนไทย อดอยาก 2.6 แสนคน ผงะ! เกษตรกรผลิตเองแต่กลับไม่มีกิน

29 ส.ค. 2565 | 10:12 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2565 | 17:21 น.
1.5 k

สศช. เปิดข้อมูล วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร พบตัวเลข คนไทย อดอยาก 2.6 แสนคน หลังมีการบริโภคไม่เพียงพอกับความต้องการสารอาหาร ที่น่าตกใจ คือ ครัวเรือนเกษตรกร กลับกลายเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหาร ทั้งที่เป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารที่สำคัญ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่วชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงาน ภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 โดยนำเสนอบทความ “วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร : มาตรการและแนวทางยกระดับให้ไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน” พบข้อมูลน่าสนใจ ครัวเรือนรายได้น้อยยังมีปัญหาการเข้าถึงอาหาร โดยพบตัวเลขคนไทย อยู่ในภาวะอดอยากถึง 2.6 แสนคน

 

ทั้งนี้ตามรายงานระบุถึง สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของไทย อ้างอิงจากข้อมูล Global Food Security Index : GFSI ที่จัดทำและรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 113 ประเทศ จัดทำโดย The Economist Intelligence Unit พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอยู่ในอันดับที่ 51 จาก 113 ประเทศทั่วโลก 

วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร : มาตรการและแนวทางยกระดับให้ไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

 

โดยมีคะแนนอยู่ที่ 64.5 จาก 100 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีคะแนนอยู่ที่ 63.6 คะแนน ซึ่งไทยอยู่ในอันดับสูงเป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 15 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างดี 

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว หากพิจารณาความมั่นคงทางอาหารตามนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ การมีอาหารเพียงพอ การเข้าถึงอาหาร การใช้ประโยชน์จากอาหาร และการมีเสถียรภาพด้านอาหาร ยังมีประเด็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญ เรื่องหนึ่งที่น่าตกใจ นั่นคือ 

 

ครัวเรือนรายได้น้อย ยังมีปัญหาการเข้าถึงอาหาร แม้ว่าข้อมูล GFSI ในปี 2021 จะระบุว่า ผลการประเมินองค์ประกอบด้านความสามารถในการหาซื้ออาหาร ของไทย จะมีค่าคะแนน 81.8 ซึ่งอยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ตาม พบว่า ข้อมูลดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนด้านอาหาร 

 

วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร : มาตรการและแนวทางยกระดับให้ไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน


ชี้ให้เห็นถึงจำนวนคนไทยที่มีการบริโภคไม่เพียงพอต่อความต้องการสารอาหารต่อวันที่มีสัดส่วนประชากรภายใต้เส้นความยากจนด้านอาหาร 0.38% ในปี 2563 หรือมีคนไทยที่มีการบริโภคไม่เพียงพอกับความต้องการสารอาหารจำนวน 2.6 แสนคน โดยอยู่ในเขตชนบทสูงกว่าในเมือง 

 

วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร : มาตรการและแนวทางยกระดับให้ไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้ งานศึกษาหลายชิ้น พบว่า ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารกระจุกตัวอยู่ในเขตชนบท ในแถบแห้งแล้งกันดารและห่างไกลการคมนาคม ขณะที่ ครัวเรือนเกษตรกรมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหารทั้งที่เป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารที่สำคัญ โดยแนวโน้มการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารของครัวเรือนเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตอาหารกำลังลดลงทุกขณะ 

 

สะท้อนว่า แม้โดยรวมระดับรายได้ของคนในประเทศส่วนใหญ่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อบริโภคอาหาร แต่การเข้าถึงอาหารในกลุ่มเปราะบางยังจำเป็นต้องสร้างมาตรการเพื่อรับมือความไม่มั่นคงทางอาหารของกลุ่มดังกล่าว

 

วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร : มาตรการและแนวทางยกระดับให้ไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน