คนไทยจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เดือนละเท่าไหร่ ฟังสภาพัฒน์เฉลย

27 ส.ค. 2565 | 07:09 น.
2.9 k

เปิดข้อมูลใหม่ คนไทยกระหน่ำซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กระฉูด พบตัวเลขการใช้จ่ายในการซื้อแต่ละเดือนพุ่ง หลังสภาพัฒน์ ระบุภาวะสังคมไทย แจ้งรายละเอียดชัด ช่วงโควิด-19 ระบาด คนทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายมากขึ้น

ข้อมูลการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงออกมาวันก่อน มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ สถานการณ์การใช้จ่ายเงินเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของคนไทย โดยระบุถึงการดูแลสุขภาพยังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 

 

ทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายมากขึ้น อีกทั้งข้อจำกัด ในการเข้าถึงอาหารในช่วงดังกล่าวยังทำให้การบริโภคอาหารของผู้คนมีความหลากหลายน้อยลง ส่งผลต่อความครบถ้วนของสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน 

 

โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยขาดสมดุลในการบริโภคอาหาร โดยมีการบริโภคอาหารไขมันสูงและอาหารแปรรูปในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก 

นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้คนยังให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ และรูปร่างหน้าตามากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จากข้อมูลของ EuroMonitor พบว่า ปี 2559 ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินของประเทศไทย มีมูลค่า 53,810 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 74,247 ล้านบาท ในปี 2564 

 

ทั้งนี้ สถานการณ์การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของคนไทย จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่า ในปี 2564 ครัวเรือนกว่า 1.8 ล้านครัวเรือน มีการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาบริโภค เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 149.3% ที่มีเพียง 0.7 แสนครัวเรือน 

 

โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 1,036 บาทต่อเดือน สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการให้ความสำคัญกับสุขภาพ 

 

สถานการณ์การใช้จ่ายเงินเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของคนไทย

ข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ของศูนย์บริการวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พบว่า เหตุผลของการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อบำรุงร่างกาย บำรุงผิวพรรณ ลดปัญหาเกี่ยวกับผิว และลดน้ำหนัก ส่วนใหญ่มีพฤติกรรม และวิธีการเลือกซื้อ ดังนี้

  • 70% พิจารณาจากการได้รับสัญลักษณ์ อย. เกือบ 
  • 40.5% ตัดสินใจเลือกซื้อเพราะมีส่วนประกอบและสรรพคุณตรงกับความต้องการ 
  • 33.7% ตัดสินใจซื้อตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประชาชนกว่า 70% มีความเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรับประทานเป็นประจำ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าคนไทยจะมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น แต่บางส่วนยังมีทัศนคติและความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่รอบด้านมากนัก

 

สถานการณ์การใช้จ่ายเงินเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของคนไทย

 

สำหรับ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ทุกคนควรรู้เท่าทัน มีดังนี้

  1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นขึ้นทะเบียน อย.ในประเภทอาหาร มิใช่ประเภทยา ซึ่งการได้รับเครื่องหมาย อย. ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะได้รับประโยชน์หรือเกิดผลต่อร่างกายตามที่คาดหวัง เพียงแต่เป็นการรับรองว่าวัตถุดิบและกระบวนการผลิตจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค 
  2. ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากสารอาหารในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่เป็นสารที่ผู้บริโภคสามารถได้รับจากการบริโภคอาหารปกติ 
  3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีโทษเช่นกัน เนื่องจากสารประกอบบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อผู้บริโภค 
  4. สารอาหารที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีต้นทุนสูงกว่าการรับประทานอาหารปกติ 
  5. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมากยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงผลต่อร่างกาย 

 

จะเห็นได้ว่า หากรับประทานอาหารอย่างเพียงพอและหลากหลาย ก็จะได้รับสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเสริมด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่สำหรับคนบางกลุ่ม อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางโภชนาการ อาจใช้เพื่อเสริมสารอาหารที่ขาดไปได้ 

 

สำหรับผู้ที่ต้องการบริโภคสามารถพิจารณาเลือกซื้อได้ ดังนี้ 

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว/มียาประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อน และผู้ที่ต้องการบริโภคควรพิจารณาตามความต้องการและข้อจำกัดของร่างกายตนเอง 
  • ศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ มีฉลากแสดงส่วนประกอบ จดทะเบียน อย. 
  • ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณดีเกินไป 

 

นอกจากนี้ ผู้บริโภคไม่ควรหวังพึ่งสารอาหารจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นหลัก โดยละเลยการให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารและพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เหมาะสม

 

ขณะที่ภาครัฐ ควรมีแนวทางในการรวบรวมข้อมูล แนวทางในการเลือกซื้อ รวมถึงระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไว้ด้วยกัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาบริโภคได้สะดวกมากขึ้น