รายได้ต่อหัวคนไทย 2565 เพิ่มเท่าไหร่ กี่แสน หลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้น

15 ส.ค. 2565 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2565 | 20:08 น.
7.5 k

รายได้ต่อหัวคนไทย 2565 เพิ่มเท่าไหร่ เพิ่มขึ้นวงเงินกี่แสนบาทต่อคนต่อปี หลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลข GDP ของไทยไตรมาสที่ 2 พบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่องทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ขยายตัว 2.7 - 3.2%

หลังจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย ไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 2.5% และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 อยู่ที่ขยายตัว 2.7 - 3.2% 

 

โดยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยประเมินว่า ในปี 2565 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 7.9% การอุปโภคบริโภค ขยายตัว 4.4% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1%

 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 6.3 – 6.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.6% ของ GDP

ขณะเดียวกันยังมีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ รายได้ต่อหัวคนไทย ในปี 2565 สศช. ได้ประเมินตัวเลขทั้งปีออกมา สรุปได้ดังนี้

  • ขนาดของ GDP อยู่ที่ 17.6 ล้านล้านบาท
  • รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 252,464 บาทต่อคนต่อปี
  • ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการรอบเดิมคือ 248,468 บาทต่อคนต่อปี

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นผลมาจากส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสแรกปี 2565 ขยายตัว 2.3% และในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ 2.5% ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.4%

 

รายได้ต่อหัวคนไทย ในปี 2565

อย่างไรก็ตามหากจะทำให้ตัวเลขรายได้ต่อหัวของไทยเป็นไปตามเป้าหมาย สศช. ได้มีข้อเสนอแนะถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

 

1.การติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและภาระดอกเบี้ยแบบมุ่งเป้า 

 

2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ คือ

  • การบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาต้นทุนการผลิต 
  • การเตรียมการและป้องกันปัญหาจากอุทกภัย 
  • การเพิ่มส่วนแบ่งของเกษตรกรในรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย 

 

3.การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งเตรียมมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ 

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลง GDP รายได้ต่อหัว

 

4.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า ทั้ง

  • การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ 
  • การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า 
  • การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ 
  • การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน 

 

5.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง ทั้ง

  • การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง 
  • การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาประกอบธุรกิจ 
  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง 
  • การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ 

 

6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ทั้ง 

  • การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562 - 2564 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 
  • การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต 
  • การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 
  • การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค
  • การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ 
  • การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง 

 

7.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 

 

8.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์