นาทีนี้ไม่พูดถึงคงไม่ได้สำหรับการซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” ที่กำลังเติบโตคึกคักทั่วโลก ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างสมดุลใน "การปล่อยก๊าซเรือนกระจก" เเต่ยังจุดประกายการมีส่วนร่วมของธุรกิจให้สามารถแสวงหาโอกาสทำประโยชน์ได้ ด้วยการนำเครดิตเหลือเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนขายให้กับธุรกิจอื่นที่ปล่อยก๊าซในระดับสูงเกินเกณฑ์ และจำเป็นต้องหาเครดิตมาชดเชย
นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการ บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด (มหาชน) หรือ ทีมกรุ๊ป อธิบายว่า ตลาดคาร์บอนเครดิต เป็นกลไกหนึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแบบเป็น 2 ประเภทคือตลาดภาคบังคับ และตลาดภาคสมัครใจ ซึ่งกลไกของประเทศไทยเป็นตลาดภาคสมัครใจ ภายใต้โครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction scheme) และต่อไปนี้คือ 12 ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับ ตลาดคาร์บอนเครดิต
คาร์บอนเครดิต : 12 เรื่องควรรู้
1.ตลาดภาคบังคับ เช่นกลไกการซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ETS (Emission Trading Scheme) เป็นกลไกภายใต้ UNFCCC และภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นตลาดที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนใบอนุญาติในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แบบ Cap and Trade ซึ่งสิทธิ์นี้ถูกกำหนดด้วยนโยบายของแต่ละประเทศ เช่น ตลาด EU ETS
2.กลไกภาษีคาร์บอนก็เป็นหนึ่งในกลไกตลาดภาคบังคับ โดยเรียกเก็บภาษีจากคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาเกินกว่าสิทธิ์ที่ได้รับอนุญาต
3. กลไก CDM (Clean development machanism) เป็นกลไกภาคสมัครใจหนึ่งภายใต้ UNFCCC ที่อนุญาตให้ประเทศที่อยู่ใน annex 1 หรือส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีกลไกภาคบังคับ สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศ non-annex 1 หรือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ได้ รวมถึงไทยด้วย
4.ตลาดภาคสมัครใจระดับสากลที่เติบโตอย่างมากในปัจจุบันคือ VERRA scheme หรือที่รู้จักในชื่อ VCS
5.ในขณะที่ประเทศไทยเอง เรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก และการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ จัดเป็นตลาดแบบภาคสมัครใจ ในชื่อตลาด T-VER ซึ่งพัฒนาโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นหน่วยงานในความดูแลของ สผ.
6.ตลาดภาคสมัครใจของไทย และระดับสากล ต่างกันอย่างไร? ตลาดคาร์บอนส่วนใหญ่มีการพัฒนาหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมาจากโครงการ CDM แต่ข้อแตกต่างของตลาดภาคสมัครใจระดับสากล (เช่น VERRA) และตลาดภายในประเทศ (T-VER) ที่เป็นประเด็นสำคัญ ณ ปัจจุบัน คือ ความเข้มงวดของหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน ซึ่ง VERRA scheme จะมีความเข้มงวดของการพิจารณาโครงการที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า TVER scheme ปัจจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาตลาดคาร์บอนใน VERRA สูงกว่า T-VER
7.ความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ ไม่ได้สะท้อนแค่ราคาของคาร์บอนเครดิตที่มีแนวโน้มสูงกว่า แต่สะท้อนถึงคุณภาพของคาร์บอนเครดิตด้วย ว่าคาร์บอนเครดิตที่ได้มีแหล่งที่มาที่พิสูจน์ได้ชัดเจน มีการดำเนินงานที่โปร่งใส และไม่มีการนับเครดิตซ้ำ คุณภาพของคาร์บอนเครดิตที่ดี ทำให้คาร์บอนเครดิตของ VERRA Scheme ได้รับการยอมรับในระดับสากล และสามารถซื้อขายให้กับกลไกอื่น ๆ ได้ เช่น CORSIA (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) หรือ กลไกชดเชยและการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สาหรับการบินระหว่างประเทศ หรือกล่าวได้ว่า CORSIA รับซื้อ คาร์บอนเครดิตที่ได้จากการขึ้นทะเบียนใน VERRA Scheme ในขณะที่คาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนภายใต้ T-VER Scheme ไม่สามารถซื้อขายกับ CORSIA ได้ เนื่องจากประเด็นด้านคุณภาพ และความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ของ T-VER เอง
8.ปัจจุบัน อบก. เล็งเห็นถึงประเด็นด้านความเข้มงวดของหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนภายใต้ โครงการ T-VER จึงได้มีการพัฒนาความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ให้เทียบเท่าระดับสากล โดยมีการทำ MOU กับ VERRA และพัฒนา Premium T-VER scheme เพื่อให้คาร์บอนเครดิตที่ได้จากการขึ้นทะเบียนสามารถแลกเปลี่ยนในระดับสากลได้ ซึ่งมีการเปิดตัวไป ณ วันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา และอยู่ในระหว่างการพัฒนา ด้วยความร่วมมือนี้จะเป็นการยกระดับคุณภาพของคาร์บอนเครดิตของโครงการในประเทศไทย
9.โครงการ T-VER ปัจจุบัน เปิดให้ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยโครงการที่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ได้แก่ โครงการประเภทพลังงานทดแทน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการด้านการจัดการของเสีย โครงการด้านการจัดการภาคขนส่ง โครงการภาคป่าไม้ และโครงการภาคการเกษตร โดยราคาของคาร์บอนเครดิตแตกต่างกันไปตามประเภทของโครงการ อยู่ที่ระหว่าง 30-200 บาท/ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ราคาคาร์บอนเครดิตจากโครงการในภาคป่าไม้จะมีราคาสูงที่สุด เนื่องจากถูกมองว่าเป็นคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพ กล่าวคือ การได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากในการพัฒนาโครงการ
10.ระยะเวลาการคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการแต่ละประเภทจะต่างกัน โดยโครงการทั่วไปจะคิดเครดิตที่ 7 ปี และโครงการภาคป่าไม้จะมีการคิดคาร์บอนเครดิตที่ 10 ปี และสามารถต่ออายุได้
11.โดยหลักการขึ้นทะเบียนโครงการภายใต้ T-VER คือ เมื่อผู้ประกอบการมีโครงการที่เข้าข่ายโครงการที่ T-VER ให้การรับรองดังกล่าวข้างต้น ก็สามารถไปเลือกระเบียบวิธีการคำนวณก๊าซเรือนกระจกที่มีเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ อบก. และจัดทำเอกสารประกอบโครงการ หรือ PDD (Project design document) เพื่อขึ้นทะเบียนได้ โดยปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะได้รับรองนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบจาก Third party หรือหน่วยงานทวนสอบที่ขึ้นทะเบียนกับ อบก. เท่านั้น
12.ประเทศไทยเองมีเป้าหมายในการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดเป็น 0 ในปี 2065 โดยเป้าหมายระยะใกล้คือการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% จาก BAU หรือจากการดำเนินงานปกติ กลไกการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมีการพิจารณาเรื่องกลไกภาษีคาร์บอนด้วย
นายชวลิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีมกรุ๊ป มีข้อเสนอว่า รัฐบาล ควรต้องสนับสนุนและกระตุ้นให้องค์การก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เข้มแข็งในการดำเนินการ ส่งเสริมการประเมินคาร์บอน และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
ขณะที่ อบก. ควรเร่งรัด และ สนับสนุนให้คนไทย มีความรู้ มีความสามารถ จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในการเป็นผู้ประเมินคาร์บอน และคาร์บอนเครดิต ของงานในลักษณะ ต่างๆ เพื่อจะให้มีค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่ลดลง เเละควรจะกำกับดูแลตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขาย ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกดราคาจากต่างประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง