รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของเทคโน โลยีการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี พ.ศ.2608 โดยได้จัดตั้ง คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นคณะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ตลอดจนมีความเข้าใจในกระบวนการทางด้านธรณีวิทยาปิโตรเลียม และวิศวกรรมปิโตรเลียม โดยเฉพาะการบริหารจัดการแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมใต้ผิวดิน ซึ่งสามารถนำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการวางแผน การศึกษา วิจัย และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากทั้งภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม มากักเก็บในชั้นหินทางธรณีวิทยาใต้ผิวดิน
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้พยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) โดยมีการตั้งคณะทำงานด้านการขับเคลื่อนฯจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มาศึกษาและจัดทำข้อมูลรวบรวมโครงการการดำเนินงานในประเทศไทย พร้อมกับแผนงานต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการด้านการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ
ทั้งนี้ จากแผนการดำเนินงาน CCUS ที่จัดทำขึ้นมานั้น จะมีอยู่ราว 21 โครงการ แบ่งเป็นโครงการศึกษา 10 โครงการ และ 11 โครงการนำร่อง ที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 2.65 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการศึกษาหลักเกณฑ์และนวทางในการกำกับดูแล ด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน ในชั้นหินทางธรณีของประเทศไทย ซึ่งจะประเมินศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนฯ ในชั้นหินคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 รวมถึงการจัดทำหลักเกณ์และคู่มือในการกักเก็บคาร์บอน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 และจะเริ่มกักเก็บคาร์ยบอนฯ ได้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
ขณะที่การกำหนดมาตรการ กลไก แนวทาง และคู่มือในการบริหารจัดการดักจับ การขนส่ง การทำให้บริสุทธิ์ และการใช้ประโยชน์ จากคาร์บอนฯ คาดจะแล้วเสร็จปี 2573 รวมถึงการเดินเครื่องจักรเชิง พาณิชย์เพื่อดักจับ กักเก็บหรือใช้ประโยชน์จากคาร์บอนฯที่ปลดปล่อย จากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2573
โครงการยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่าของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ได้เห็นชอบร่างดังกล่าวแล้ว โครงการศึกษาแนวทางการกำหนดอัตราคิดลดที่เหมาะสม สำหรับใช้ในการประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับมาตรการ อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ โครงการแผนที่นำทางเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำทางประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ขณะที่โครงการนำร่อง CCUS เช่น การศึกษาในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยตอนล่างหรือแหล่งก๊าซอาทิตย์ ดำเนินการโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ร่วมกับพันธมิตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1.77 หมื่นล้านบาท และแหล่งก๊าซ A18 องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ MTJA รวมถึงพื้นที่ในทะเลอ่าวไทยตอนบน เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา CCUS Hub ในประเทศที่มีกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และการศึกษาพื้นที่ศักยภาพการกักเก็บคาร์บอน ที่ศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยา ซึ่งเบื้องต้นพบว่าพื้นที่อ่าวไทยตอนบนอาจมีศักยภาพในการกกักเก็บคาร์บอนฯได้สูงถึง 7 พันล้านตัน
อีกทั้ง มีโครงการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของบริษัท ปตท.สผ.ในแหล่งก๊าซภูฮ่อม ที่จังหวัดอุดรธานี และการศึกษาพื้นที่ภาคกลาง ในแหล่ง เอส 1 กำแพงเพชร ของปตท.สผ. รวมถึงโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำก๊าซคาร์บอนฯไปใช้ประโยชน์ (CCU) ของเอสซีจี และการไฟฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย (กฟผ.) ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นต้น
“แผนการดำเนินการด้านเทคโนโลยี CCUS ในภาพรวมของประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นโอกาสของประเทศไทยในการร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี CCUS เพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หน่วยงานต่าง ๆ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประเทศก้าวสู่สังคมคาร์บอนตํ่าต่อไป”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง