นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) หรือบีไอจี เปิดเผยว่า บีไอจีตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ในปีค.ศ. 2050 สอดรับกับเป้าหมายทั่วโลกและแอร์โปรดักส์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ด้วยนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Company)
โดยเริ่มจากการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำเป็นรายแรกของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ด้วยนวัตกรรมโรงแยกอากาศที่ใช้ความเย็นจากกระบวนการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG Regasification เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม
ซึ่งถือเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้า (สโคป 2) คิดเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าลดลงได้กว่า 100,000 ตันต่อปี
นอกจากนี้บีไอจียังเป็นผู้ผลิตก๊าซอุตสาหกรรมรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO จากการดำเนินงานในปี 2564 ที่ผ่านมาอีกด้วย
บีไอจีมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้า (สโคป 2) เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากกระบวนการผลิต (สโคป 1) ของบีไอจีมีน้อยมาก โดยการดำเนินธุรกิจเรามุ่งที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ไปสู่เป้าหมายของประเทศที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนค.ศ. 2050 และลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ปีค.ศ.2065
อีกทั้งยังสนับสนุนคู่ค้าในการบริหารจัดการ ในทุกกระบวนการของการจัดทำโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO) และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) รวมถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงขั้นตอนได้รับใบรับรองจาก TGO และการใช้ดิจิตอลแพลตฟอร์มในติดตามและบริหารจัดการลดการปลดปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งบีไอจีได้สนับสนุนพันธมิตรคู่ค้าอย่างบริษัท แม็กซิออน วีลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตล้ออลูมิเนียมอัลลอยรายแรกของประเทศไทยจนได้รับใบรับรองแบบ CFP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงขึ้นทุกปี และได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาคอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน บีไอจีจึงพร้อมเดินหน้านำนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มจากการเป็นผู้นำด้านการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ
การนำนวัตกรรมการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนของการใช้พลังงาน การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผลิตและการใช้พลังงานไฮโดรเจนในทุกรูปแบบ
รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดักจับใช้ประโยชน์และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ (CCUS) ที่บีไอจีร่วมมือกับคณะวิศวกรรม จุฬาฯ และองค์กรชั้นนำในการจัดตั้ง Thailand CCUS Consortium โดยทั้งหมดนี้ บีไอจีมั่นใจว่าจะสามารถตอบโจทย์ทุกภาคส่วนในการ ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิส และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายสุทีป รัตนภาส ประธานภาคพื้นเอเซีย บริษัท แม็กซิออน วีลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม็กซิออน วีลส์ เป็นผู้ผลิตล้ออลูมิเนียมอัลลอยให้กับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ บริษัทฯ มีนโยบายอย่างชัดเจนที่จะมุ่งสู่งองค์กรที่เป็น Carbon Neutrality โดยจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตให้ได้ 70% ภายในปี 2030
ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากคู่ค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต แม็กซิออน วีลส์ และบีไอจี ต่างเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน โดยบีไอจีให้บริการก๊าซอุตสาหกรรมและโซลูชันต่าง ๆ ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint for Product: CFP) จนได้รับการรับรองฯ ทำให้ผลิตภัณฑ์ล้ออลูมิเนียมอัลลอยทั้งหมด 16 รายการ ได้รับการรับรองเป็นรายแรกของไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง