zero-carbon
725

"คาร์บอนเครดิต" โตกระฉูดมูลค่ามหาศาลกว่า 7.5 แสนล.ในปี 2573

    "คาร์บอนเครดิต" โตกระฉูดมูลค่ามหาศาลกว่า 7.5 แสนล.ในปี 2573 หลังก๊าซเรือนกระจกถูกแปรสภาพเป็นสินค้าซื้อขาย รับพันธกิจ Net Zero

ธนาคารกรุงเทพเผยแพร่บทความเกี่ยวกับธุรกิจซื้อ ขาย "คาร์บอนเครดิต" โดยมีเนื้อหาระบุว่า 

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าในโลกการทำธุรกิจต้องมุ่งลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่บังคับให้บริษัทต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเปลี่ยนธุรกิจตัวเองให้ปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนน้อยลง  

 

ฃในเมื่อการช่วยโลกต้องขัดกับแนวทางการทำธุรกิจขนาดนี้ ทำยังไงถึงจะจูงใจให้บริษัทเหล่านี้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ คำตอบคือต้องทำให้ ‘ก๊าซเรือนกระจก’ กลายเป็น ‘สินค้า’ ที่เรียกว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ที่มีราคาซื้อขายได้ในตลาด และกลายเป็นต้นทุนที่ต้องลด หรือเป็นสินค้าที่ไว้ขายเพื่อเพิ่มรายได้  โดยคาร์บอนเครดิตของแต่ละตลาดซื้อขายในแต่ละประเทศ 1 เครดิต ส่วนมากจะเท่ากับปริมาณคาร์บอน น้ำหนัก 1 ตัน

 

ทั้งนี้ ‘คาร์บอนเครดิต’ กำลังกลายเป็นธุรกิจซื้อขายมลพิษที่มีแนวโน้มทำเงินมหาศาลในอนาคต ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างพันธกิจ Net Zero เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้ประกอบการรายใด ที่ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ ก็ยังสามารถทดแทนด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ในตลาดโลก


ภาพรวมตลาดคาร์บอนเครดิตโลก

 

สำหรับภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตโลก เมื่อปี 2020 มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 12,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือประมาณ 750,000 ล้านบาท ในปี 2030 (พ.ศ.2573) สำหรับประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก  ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น

จากสถิติจาก World Resources  ระบุว่าสหรัฐปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดปีละ 5.7 พันล้านตัน อันดับ 2 คือจีน 3.4 พันล้านตัน อันดับ 3 คือ รัสเซีย 1.5 พันล้านตัน ญี่ปุ่น 1.2 พันล้านตัน อังกฤษ 558ล้านตัน ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก อยู่ที่ราว 256 ล้านตันต่อปี  ซึ่งคิดเป็น 1% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลกที่ถูกปล่อยออกมา ก๊าซเรือนกระจกนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าถึง 39% ดังนั้นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จึงเป็นหนึ่งในแนวทางช่วยให้ประเทศตัวการปล่อยก๊าซพิษไม่ต้องถูกลงโทษ

 

ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตโลกจะเติบโตสูงถึง 15 เท่า ใน 10 ปีข้างหน้า

 

จากงานวิจัยของหลาย ๆ สำนักทั่วโลกต่างคาดการณ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตของโลกจะเติบโตมากถึง 100 เท่า ในปี  2593 อย่างเช่น งานวิจัยของ McKinsey คาดว่าในปี 2573 ความต้องการคาร์บอนเครดิตในตลาดซื้อขายคาร์บอนภาคสมัครใจจะเติบโตถึง 15 เท่า จากปี 2563 จนแตะระดับ 1.5-2 กิกะตันคาร์บอนฯ (GtCO2) ต่อปี และเติบโตมากถึง 100 เท่า จนมาอยู่ที่ราว 7-13 กิกะตันคาร์บอนฯ (GtCO2) ต่อปี ในปี 2593

 

ตัวอย่างองค์กรชั้นนำของโลกที่ซื้อ-ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’

 

จากตัวเลขการเติบโตดังกล่าวก็สอดคล้องกับเป้าหมายของเหล่าบริษัทชั้นนำของโลก ที่ทำข้อตกลงร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนลง โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 140 ล้านดอลลาร์ และจะมีพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นอีกกว่า 1,600 เมกะวัตต์

 

เริ่มจากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง ‘Microsoft’ ที่เคยประกาศในปี 2020 จะพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2030 นอกจากนี้ Microsoft ยังตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณคาร์บอนให้เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่รับผิดชอบในการผลิตนับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการในปี 1975

ปัจจุบัน บริษัท ‘Microsoft’ ได้หันมาใช้พลังงานทดแทน 100% ในศูนย์ข้อมูล และสำนักงาน ไปจนถึงห้องทดลองต่างๆ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีได้ซื้อคาร์บอนเครดิตในดินมูลค่า 43,338 เมตริกตัน ซึ่งมาจากการกักเก็บคาร์บอนที่ฟาร์มปศุสัตว์ โดย Microsoft ได้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตในดินที่ประเทศออสเตรเลีย โดยจะใช้ระบบ Regen Network ที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชนของ Cosmos และการกักเก็บคาร์บอนแบบ CarbonPlus Grasslands ที่ใช้กับฟาร์ม 2 แห่งในนิวเซาท์เวลส์

 

ขณะที่ "คาร์บอนเครดิต" มูลค่า 43,338 เมตริกตันที่ออกให้กับ Wilmot Cattle Co นั้นถูกริเริ่มโดยบริษัท Impact AG ก่อนที่ Microsoft จะเข้าซื้อ โดยได้มีรายงานว่าเจ้าของฟาร์ม Wilmot ได้เพิ่มความเข้มข้นของคาร์บอนอินทรีย์ในดินบนที่ดินของพวกเขาได้ถึง 4.5% ซึ่งทำได้โดยการจัดการเลี้ยงปศุสัตว์ ความเข้มข้นของคาร์บอนอินทรีย์ในดินอยู่ที่ 4% ถึง 6%

 

ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิต ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดการกักเก็บธาตุคาร์บอนในดิน เป็นกระบวนการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศและกักเก็บไว้ในดิน สิ่งนี้ทำได้โดยใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลของ Regen Network ที่ขึ้นชื่อว่าได้ช่วยสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า สุขภาพของดินและสุขภาพของระบบนิเวศโดยทั่วไปได้อีกด้วย

 

Google ผู้ซื้อพลังงานสะอาดรายใหญ่ที่สุดในโลก

 

ขณะที่ กูเกิล (Google) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไม่แพ้กัน ได้ประกาศความสำเร็จตามเป้าหมายที่เคยระบุไว้ว่า จะหาพลังงานสะอาดมาใช้กับศูนย์ข้อมูล และสำนักงานของตนเองให้ได้ 100 % ภายในปี 2017 ซึ่งเท่ากับว่า ขณะนี้ กูเกิล เป็นผู้ซื้อพลังงานสะอาดระดับองค์กรรายใหญ่ที่สุดของโลก

 

ส่วนเหตุผลทำไมแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าถึงสำคัญกับกูเกิลมาก เนื่องจากเฉพาะศูนย์ข้อมูลของกูเกิล 13 แห่ง ใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากถึง 5.7 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง ทำให้กูเกิล ต้องมองหาพลังงานจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมมาเพิ่มเติม ประกอบกับในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แหล่งพลังงานดังกล่าวมีการปรับลดราคาลง 80 และ 60 % ตามลำดับ ทำให้ต้นทุนด้านพลังงานของกูเกิล ลดน้อยลงไปด้วย

 

ประเทศไทย คาร์บอนเครดิตเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนในประเทศไทย ตลาดสมัครใจคือเป็นการซื้อ-ขายที่ไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับจากทางภาครัฐโดยความเคลื่อนไหวล่าสุดในเรื่องคาร์บอนเครดิตก็คือ การก่อตั้ง Carbon Markets Club นำโดย กลุ่มบริษัทบางจากฯ พร้อมด้วยความร่วมมือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยมาเข้าร่วม ได้แก่ กฟผ., เครือเจริญโภคภัณฑ์, เชลล์, บีทีเอส กรุ๊ป, เต็ดตรา แพ้ค, บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส ฯ 11 บริษัทนี้ก็มาทำการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิตโดยมีผู้ขายคือ บริษัท บีซีพีจี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีราคาขายอยู่ที่ 25 บาทต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e)

 

และเพียงวันแรกที่เปิดตลาดซื้อ-ขายกันนั้นมีมูลค่ารวม 2,564 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 298,140 ต้น หรือคิดเป็น 1,491 ไร่ หลายคนสงสัยว่าเงินที่ได้จากการขายคาร์บอนเครดิตถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไร คำตอบก็คือ นอกจากจะนำไปใช้ในเรื่องพัฒนาสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น เงินอีกส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้พัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั่นเอง

 

ราคาซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต โตต่อเนื่อง

 

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ระบุว่า สถานการณ์ตลาดคาร์บอนในต่างประเทศมีผู้เล่นหนักๆ เช่น สหภาพยุโรป หรือ อียูที่เป็นตลาดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตตลาดนี้ มีมูลค่าที่ค่อนข้างสูงเฉลี่ยที่ 2,769 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

ในส่วนของประเทศไทย ราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องโดย ในปี 2561 อยู่ที่ 21.37 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปี 2562 อยู่ที่ 24.71 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปี 2563 อยู่ที่  25.76 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่ปี 2564 อยู่ที่ 34.34 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปัจจุบันปี 2565 ราคาสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 107.23 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหรือประมาณ 3 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนฯ ขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตในแต่ละตลาดหรือแต่ละมาตรฐานจะมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตโลกอยู่ที่ประมาณ 25ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนฯ

 

ขณะที่ฝั่งสหรัฐ เริ่มการซื้อขายช่วงปี 2555 มีราคาซื้อขายเฉลี่ยที่ 1,059 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนจีน เริ่มซื้อขายไม่นานแต่ก็มีธุรกิจร่วมในภาคสมัครใจกว่า 2,200 แห่ง มีราคาเฉลี่ยที่ 272 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

 

สถานการณ์ซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER

 

สำหรับสถานการณ์การแลกเปลี่ยน และซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ในปัจจุบันนั้น มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่มีการแลกเปลี่ยนและซื้อ-ขาย ไปแล้วประมาณ 750,000 tCO2eq ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 25 บาท/tCO2eq มีราคาต่ำสุดและสูงสุดเท่ากับ 15 บาท/tCO2eq และ 200 บาท/tCO2eq ตามลำดับ

 

โดยในอนาคต TGO ได้มีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการสร้างรูปแบบการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ผ่านระบบ Exchange Platform ซึ่งเป็นวิธีการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ซื้อและผู้ขายส่งการเสนอซื้อและเสนอขายด้วยคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ เช่น มือถือ แท็ปเล็ต เป็นต้น ผ่านเข้าไปยังระบบ Exchange Platform โดยที่ระบบ Exchange Platform จะทำการเรียงลำดับและจับคู่สั่งซื้อขายให้โดยอัตโนมัติ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองระบบ Exchange Platform ได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564

 

SME จะได้ประโยชน์อะไรในการ ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER

 

มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจจะส่งผลดีต่อประเทศไทย คือ นอกจากจะส่งเสริมให้เกิดการถ่ายโอนหรือเรียนรู้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากต่างประเทศ  ทำให้ผู้ประกอบการ SME สามารถลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าแล้ว ยังจะส่งเสริมให้สังคมไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง และสามารถสร้างรายได้และก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น  

 

กรณีศึกษาบริษัทที่ประกอบธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทย

 

สำหรับประเทศไทย ธุรกิจการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต เป็นธุรกิจใหม่ที่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น อย่างเช่น บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ถือเป็นนักลงทุนรายแรกของประเทศไทยที่เข้าสู่ธุรกิจคาร์บอนเครดิต โดยจัดตั้งธุรกิจคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย กับพันธมิตรระดับโลกคือ บริษัท GSI เจ้าของแพลตฟอร์มจัดการธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยบล็อกเชนรายแรกของโลก ที่มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี เพื่อดำเนินการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าในช่วงแรกจะใช้เงินลงทุนราว 150 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อคาร์บอนเครดิตรวบรวมจากผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดกลาง  

 

โดย ออลล์ อินสไปร์ มองว่า ธุรกิจคาร์บอนเครดิต เป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงถึง 60-70% และมีความต้องการสูงจากตลาดต่างประเทศ ขณะที่ราคาซื้อขายจะอิงจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 บริษัทฯ ต้องการบรรลุเป้าหมายปริมาณในการค้าคาร์บอนเครดิต (Trade Carbon credit) ไว้ที่ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สร้างรายได้ราว 7 ล้านบาท และตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2566 เป็นต้นไป พร้อมขยายธุรกิจไปสู่ Global Market ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ คาดการณ์ปริมาณการซื้อ-ขายผ่าน Marketplace ของบริษัทฯ โดยตั้งเป้า 5ปี (ปี 2026) เท่ากับ 50.77 ล้านตัน สร้างรายได้ 2.044 ล้านบาท  

 

ตัวอย่าง SME ที่ Transform สู่ธุรกิจ Low Carbon

 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของผู้ประกอบการ SME ที่หันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) อย่างเช่น บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยนวัตกรรม ไร้สารพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้ส่งออกเส้นก๋วยเตี๋ยวข้าวไทยรายใหญ่ของเมืองไทย ที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ESG โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainability) 

 

โดยการนำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพและโซล่าเซลล์ รวมถึงการปลูกป่า มาช่วยในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการนำของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิตคือน้ำแป้งวันละ 200,000 ลิตรมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในโรงงานได้ถึง 2,100 กิโลวัตต์ต่อวัน ซึ่งทำให้บริษัทมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลและยังทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงเดือนละกว่า 200,000 บาทเลยทีเดียว ที่สำคัญเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี

 

โดยมีเป้าหมายในการทำธุรกิจในอนาคต จะปลูกป่าเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกไปให้ได้มากกว่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตของบริษัทซึ่งเทียบกับการปลูกป่า1,300 ไร่ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,235 Ton CO2e ต่อปี ที่เหลือก็จะนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตต่อไป

 

สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจยุคใหม่ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย การใช้แนวคิด ESG ในการดำเนินธุรกิจจึงเป็นแนวทางที่ทั่วโลกปรับเปลี่ยนเพื่อการทำธุรกิจที่ยั่งยืนและยังสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้อีกทางหนึ่งในอนาคต ซึ่งถ้าธุรกิจใดไม่ปรับเปลี่ยนจะมีความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจหรืออาจจะต้องชดเชยค่าปล่อยคาร์บอนให้กับธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาดซึ่งมีราคาสูงมาก อาจจะไม่คุ้มค่ากับกำไรที่ได้