โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้คำมั่นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์
เมื่อ 1 พ.ย. 2564
โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 (2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065(2608) ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจในไทยได้รับลูกเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญยังสามารถช่วยผู้ประกอบการในการสร้างรายได้จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วย
เร่งพลังงานทดแทน
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท มิตรผล ไบโอ - เพาเวอร์ จำกัด ได้ดำเนินการร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เพื่อแสวงหาโอกาสในการจัดหาพลังงานทดแทน (RE) ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้ารวมถึงรูปแบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) หรือซื้อขายการรับรองคุณลักษณะพลังงาน (EACs) รูปแบบอื่น ๆ หรือคาร์บอนเครดิต รวมถึงรูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
สำหรับกลุ่มมิตรผล มีโรงงานผลิตไฟฟ้า RE ปัจจุบันมีกำลังผลิตที่ประมาณ 800เมกะวัตต์ คาดในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะมาจากโดยรอบโรงงานน้ำตาล และแหล่งผลิตจากทางภาคใต้ของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากโซลาร์เซลล์ และชีวมวล นอกจากนี้ ยังมองการลงทุนที่ประเทศเวียดนามเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคตด้วย
“เวลานี้แนวโน้มของโลกผู้ส่งออก หรือผู้ผลิตสินค้าจะต้องมีคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นการการันตี ดังนั้น จึงต้องใช้แหล่งพลังงานจาก RE ในการผลิต เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนได ออกไซด์ ดังนั้นกลุ่มลูกค้าเราจึงมีค่อนข้างมาก โดยในลำดับต่อไปจะต้องดำเนินการพัฒนาเพื่อให้เกิดการซื้อขายจริง ซึ่งทิศทางของธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทย และดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งโรงงานผลิต ช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เพิ่มสูงขึ้น”
นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (PEA) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องการซื้อขายพลังงานสะอาดในประเทศไทย โดยเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการทางด้านพลังงานของผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
เปิดตลาดคาร์บอนฯไทย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ประเทศไทยได้ยกระดับในการวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ในปีค.ศ. 2030 (2573) จากที่มีการปล่อยอยู่ราว 338 ล้านตันต่อปี โดยมีการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการสร้างตลาดคาร์บอนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการซื้อ การขาย และถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต พ.ศ. 2565 รองรับไว้แล้ว
อบก.ยังได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขับเคลื่อนภาคเอกชนในการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เชื่อมต่อเเพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดเเละคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 (2608) จะมีมูลค่าคาร์บอนประมาณ 325,450 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ (ไม้โตช้า) และปลูกป่าเศรษฐกิจ (ไม้โตเร็ว) ในพื้นที่ป่าจำนวน 6 แสนไร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนแสดงเจตจำนงเพื่อขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ปัจจุบันนี้ภาคเอกชนเริ่มเห็นแล้วว่าคาร์บอนเครดิตมีความสำคัญ
ซึ่งโครงการนี้จะสอดคล้องกับการเปิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเงื่อนไขการแบ่งปันคือ ผู้ปลูกหรือภาคเอกชนจะได้คาร์บอนเครดิต 90% และรัฐบาลจะได้คาร์บอนเครดิต 10% ส่วนประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานของภาคเอกชน เพื่อดูแลพื้นที่ป่า
“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯอยู่ระหว่างผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและกลไกการเงินที่จำเป็น การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา คาดจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายในสิ้นปี 2565 หรือ ต้นปี 2566”
ผุดแพลตฟอร์มซื้อขาย
นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. ระบุว่า ส.อ.ท. ได้พัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม FTIX เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบของ อบก.
นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC อีกด้วย
โดย ส.อ.ท. ได้ยื่นแพลต ฟอร์ม FTIX นี้เข้าร่วมในโครงการ ERC Sandbox 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อทดสอบระบบของตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ โดยที่อุตสาหกรรมทุกขนาด และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้าถึง เพื่อดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนในประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง