บีไอจีทุ่มพันล้าน ตั้งโรงงานแยกอากาศ ป้อนโรงกลั่น IRPC ลด CO2

23 ก.ค. 2565 | 17:04 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2565 | 00:17 น.

บีไอจี ทุ่ม 1 พันล้านบาท ลงทุนตั้งโรงงานแยกอากาศ ผลิตก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจน ป้อนโรงกลั่นน้ำมันไออาร์พีซี รวมมูลค่าสัญญาเกือบ 2 พันล้านบาท ช่วยสนับสนุนลดก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการขนส่งและการผลิต คาดก่อสร้างแล้วเสร็จตุลาคมปี 2566

 

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ BIG (บีไอจี) ผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เปิดเผยว่า บีไอจีได้ลงทุนในโครงการโรงแยกอากาศสำหรับผลิตก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจน กำลังผลิตรวม 350 ตันต่อวัน มูลค่าลงทุนราว  1,000 ล้านบาท ป้อนให้กับโรงกลั่นน้ำมันบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC นำไปใช้ในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องตามมาตรฐาน ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project หรือ UCF) มีมูลค่าสัญญาราว 2 พันล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 20 ปี

 

บีไอจีทุ่มพันล้าน ตั้งโรงงานแยกอากาศ ป้อนโรงกลั่น IRPC ลด CO2

 

 “IRPC มีโครงการปรับปรุงโรงกลั่นเพื่อผลิตน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำ (ยูโร 5) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี โดยน้ำมันที่ผลิตได้จะสามารถช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ที่ถูกปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากการเผาไหม้ โดย IRPC เองมีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจนในกระบวนการผลิต บีไอจีจึงได้นำเสนอเทคโนโลยีในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมที่บีไอจีมีความเชี่ยวชาญ รวมถึงนวัตกรรมในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ผลักดันให้โลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission"

 

สอดคล้องกับเจตนาของบีไอจีที่มุ่งเน้นการทำให้โลกมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายของบีไอจีร่วมแคมเปญ “Third by ’30” ของบริษัท  แอร์โปรดักส์ แอนด์ เคมิคัลส์ อิงค์ (Air Products and Chemicals, Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดในปี พ.ศ. 2573 จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ใน 3 จากปี พ.ศ. 2558 ผ่านโครงการต่าง ๆ

 

 

ทั้งนี้ โครงการโรงแยกอากาศสำหรับผลิตก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจนแห่งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศ จึงเป็นการสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emission ของบีไอจี และ IRPC เนื่องจากการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อผลิตและจำหน่ายก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจนที่ใกล้กับจุดใช้งานจะทดแทนการใช้ไนโตรเจนและออกซิเจนเหลว ที่จำเป็นต้องพึ่งพิงระบบโลจิสติกส์ด้านการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดการปลดปล่อย CO2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้น แนวทางดังกล่าวนี้จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC  กล่าวว่า IRPC เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project หรือ UCF) ใช้เงินลงทุนทั้งโครงการกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ที่มีแผนจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนตุลาคม ปี 2566 ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อลดปัญหามลภาวะและฝุ่น PM 2.5 และสามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 260,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

 

สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของ IRPC ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน (Core Uplift) ด้วยการขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ที่พร้อมมุ่งสู่องค์กร Net Zero Emission ที่มีเป้าหมายจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20 %  จากการดำเนินธุรกิจปกติ ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปีฐาน (ปี 2555)

 

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้บีไอจี ได้มาจัดตั้งโรงแยกอากาศผลิตก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจน มีมูลค่าสัญญาเกือบ 2 พันล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการของโครงการ UCF และโครงการอื่น ๆ ในอนาคตของ IRPC อันจะช่วยเสริมประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณูปโภค และตอบโจทย์ความต้องการการใช้ก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นของเขตประกอบการอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี จ.ระยอง โดยเฉพาะในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพนํ้ามันดีเซลภายใต้โครงการ UCF ให้สอดคล้องตามมาตรฐานยูโร 5

 

“โรงผลิตก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจนแห่งใหม่นี้ เป็นหัวใจสำคัญในการป้อนก๊าซสาธารณูปโภคหลักในการดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซล ยูโร 5 ของบริษัทฯ เพื่อลดปัญหามลภาวะและฝุ่นละออง ยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ สอดคล้องกับปณิธานการดำเนินธุรกิจของ IRPC ที่มุ่งมั่นสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”