วันนี้ 21 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ว่า ตามที่ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (แห่งชาติ) ผ่าน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้ให้เงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) จำนวน 600 ล้านบาทแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อนำไปเป็นเงินตั้งต้นในการดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) จากกรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยมีหลักการตามบันทึกข้อตกลง ที่ได้ระบุไว้ว่าให้จัดสรรการถ่ายทอดสดแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทั้ง 64 คู่ตลอดการแข่งขัน
เนื่องด้วยการดำเนินการของการกีฬาแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 มีข้อพึงสังเกตุถึงความไม่ถูกต้องในการจัดสรรการถ่ายทอด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) จึงเรียนมายังคณะกรรมการกสทช. เพื่อโปรดตรวจสอบ และวินิจฉัยว่าการจัดสรรในครังนี้มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ตามรายละเอียดดังนี้
1. การได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาท จากกองทุนกทปส. ซึ่งเป็นเงินที่ได้ส่งมอบมาจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อเป็นเงินทุนในการสนับสนุน ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นั่นหมายถึงผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ได้ร่วมสนับสนุนไปกับกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน การจัดสรรแมทซ์ในการถ่ายทอดสดให้แก่ช่องต่างๆ ควรเป็นไปตามมติในการให้เงินสนับสนุนของ กสทช.ทั้ง 64 แมทช์ (แบ่งสิทธิประโยชน์ตามสัดส่วนของการสนับสนุน คือติเป็น 40% ของงงประมาณการซื้อลิขสิทธิ์ 1,400 ล้านบาท)ไม่ใช่เพียง 32 แมทช์ และได้รับหลังจากที่ผู้สนับสนุนหลัก(กลุ่มทรู ซึ่งมีธุรกิจเป็นช่องทีวีดิจิตอลด้วย)ได้เลือกแมทช์สำคัญไปแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมอย่างมาก
2. กรณีกลุ่มทรูให้การสนับสนุนจำนวน 300 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมสิทธิ์การถ่ายทอด ทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม แบบ exclusive ได้สิทธิ์ในการเลือกคู่แข่งขัน จำนวน 32 แมทช์ และได้นาทีโฆษณา จากช่องทีวีดิจิตอลที่ร่วมถ่ายทอดจาก กกท . รายละเอียดตามภาพประกอบ
ส่วน กสทช.สนับสนุนเงินผ่านกองทุนกทปส. จำนวน 600 ล้านบาท ด้วยมติต้องจัดสรรสิทธิ์การถ่ายทอด ให้แก่ช่องทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นแหล่งที่มารายได้ของกองทุน อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ทั้ง 64 แมทช์ กลับได้รับการจัดสรรสิทธิ์เพียง 32 แมทช์ และเป็นแมทช์ที่เหลือจากที่กลุ่มทรูได้เลือกไปแล้ว ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม และผิดต่อหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ” และเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างชัดเจน
3. ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยได้มีการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเรียบร้อยแล้วในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00 -16.00 น. โดยให้สิทธิ์แก่กลุ่มทรูที่เป็นผู้สนับสนุนหลักได้เลือกแมทช์ต่างๆก่อนตามภาพประกอบ โดยแบ่งส่วนที่เหลือจากการเลือก 32 แมทช์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 21 ช่องที่ร่วมถ่ายทอด
โดยทั้งนี้สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และสมาชิกช่องสถานี ได้ทักท้วงหลายครั้งต่อกกท. ในหลักการที่ไม่สอดคล้องกับมติ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ” ของ กสทช. แต่ทางกกท.ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป ในการนี้ทางสมาคมฯจึงเรียนมายังคณะกรรมการกสทช. เพื่อยืนยันว่าการที่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลข่องสมาชิก 13 ช่องที่เสนอรับสิทธิ์ร่วมถ่ายทอด ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กกท. ซึ่งขัดต่อหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ” แต่ได้จำยอมร่วมจับฉลากไปในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 นั้น เหตุเพราะคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ชมฟุตบอลโลก ที่จะมีการถ่ายทอดสดคู่แรก ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เวลา 23.00 น. ให้สามารถดำเนินไปได้ก่อน และได้แจ้งต่อที่ประชุมของ กกท. อย่างชัดเจนแล้ว การจับฉลากครั้งนี้สมาคมฯไม่ถือเป็นการยอมรับในหลักการและวิธีการของ กกท. ขอสงวนสิทธิ์ในการทักท้วงไม่เห็นด้วยในการจัดสรรการถ่ายทอดของ กกท. โดยเรียนมายังคณะกรรมการกสทช. เพื่อวินิจฉัยว่า การจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดสดของกกท. เป็นไปโดยชอบ และขัดกับหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ”ของ กสทช.หรือไม่อย่างไร
ก่อนหน้านี้ นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมระบบโทรทัศน์ระบบดิจิทอล ให้สัมภาษณ์กับเนชั่นทีวีว่า วันนี้ทางสมาคมจะเดินทางไปยื่นเรื่องให้กสทช.วินิจฉัย กรณีการแบ่งช่องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก โดยตนเห็นด้วยที่จะให้สปอนเซอร์มีสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดมากกว่า แต่ต้องทบทวนกันว่าในระดับไหนถึงจะเหมาะสม ซึ่งในกรณีของทรูที่ได้เลือกช่องหรือเลือกถ่ายทอดก่อนถึง 32 คู่ และยังได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดทุกช่องทางทุกแพลตฟอร์มที่มีอีก ส่วนตัวมองว่า ไม่เหมาะสม
ทั้งนี้หากคิดในหลักการ ผู้ประกอบการทีวิดิจิทอล ที่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ผ่านกสทช. ผ่านกทปส. 600 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของค่าลิขสิทธิ์ 1,400 ล้านบาท ขณะที่ทรูจ่าย 300 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด 1,400 ล้านบาท เกิดเป็นคำถามทำไม 20% ถึงได้สิทธิ์ทั้งปวงเหนือกว่า เรื่องนี้เรามองว่าไม่ยุติธรรม จึงเป็นที่มาให้ทางสมาคมเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อแสดงจุดยืนว่าทางสมาคมฯไม่เห็นด้วย.
นายสุภาพ ยืนยันว่า จะยังมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกตามที่ได้มีการจับสลากแบ่งช่องไปก่อนหน้าเช่นเดิมไปก่อน แต่หากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น หากทรูลดลงจาก 32 คู่ เหลือแค่ 16 คู่ ส่วนอีก 16 คู่ทรูถ่ายทอดได้แต่ต้องมีช่องออกขนานควบคู่ไปได้ ถ้าตกลงแบบนี้ก็น่าจะมีความเป็นธรรม ซึ่งตนได้คุยกับผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องเขาก็มีความพยายามที่จะนำไปสู่ข้อยุติจุดนั้นอยู่
ส่วนความคมชัดของการถ่ายทอดสด พอมาอยู่ในกฎเกณฑ์ดังกล่าวเลือกไม่ได้แล้ว เพราะต้องกระจายอย่างทั่วถึง ตามมติของกสทช.