ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตามดีมานด์ของผู้ปกครองไทยที่นิยมหาที่เรียนให้กับบุตรหลาน เพราะมองว่าราคาใกล้เคียงกับโรงเรียนเอกชนบางแห่งและค่าเทอมยังถูกกว่าเมื่อเทียบกับเรียนต่อต่างประเทศ
ศูนย์กสิกรไทยพบว่านอกจากคนไทยแล้ว ต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ และทำงานระยะยาวรวมถึงนักเรียนจากประเทศกลุ่ม CLMV ที่เข้ามาเรียนในไทยให้ความนิยม ซึ่งอุปสงค์ที่เติบโตต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนุนให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนนานาชาติมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 5% ต่อปี โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กถึงกลาง ที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง
ส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แม่เหล็กดึงดูดลูกค้า ให้เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการในทำเล เพื่อให้บุตรหลานเรียนใกล้บ้าน ซึ่งมีทั้งดีเวลลอปเปอร์ขยายพอร์ตธุรกิจพัฒนาโรงเรียนเองรองรับกำลังซื้อแบบครบวงจร และ มีหลายบริษัทเลือก พัฒนาโครงการเจาะทำเลใกล้โรงเรียนนานาชาติ สร้างจุดขาย
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)ประเมินว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของโรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด ไม่ได้จำกัดเฉพาะในกรุงเทพมหานคร จากสถิติ พบว่าปี 2567 มีโรงเรียนนานาชาติทั่วประเทศ 249 แห่ง จำนวนนักเรียน 77,734 คน เมื่อเทียบกับ ปี 2566 โรงเรียนนานาชาติ 236 แห่ง จำนวนนักเรียน 70,200 คน คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีเพิ่มขึ้นอีกจำนวนไม่น้อย โดยในเขตกรุงเทพมหานคร มีจำนวน กว่า120 แห่ง
ขณะตลาดโรงเรียนนานาชาติ แข่งขันรุนแรง และที่ก่อตั้งใหม่ มีกำหนดเปิดการเรียนการสอนเทอมแรก เมื่อเดือนสิงหาคม2567 ที่มีนายพริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ KIS International School ในโครงการเรนวูด ปาร์ค ลำลูกกา 11 จังหวัดปทุมธานี โดยในปีแรกเปิดรับนักเรียนตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงเกรด 9 และจะทยอยเปิดชั้นเรียนในปีถัด ๆ ไป จนถึงเกรด 12 โดยมีกลยุทธ์ สำหรับผู้ปกครองที่ซื้อบ้านในโครงการสามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนได้ทันที โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก
ที่น่าจับตามองมากในเวลานี้ บริษัท อรสิรินโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ ORN ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในเชียงใหม่ เปิดโรงเรียน “มิลล์ ฮิลล์ สคูล” หรือ “Mill Hill International School Thailand” โรงเรียนนานาชาติอังกฤษแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ หลังประกาศแผนขยายธุรกิจใหม่ ด้านการศึกษา และเซ็น MOU กับ The Mill Hill Education Group ประเทศอังกฤษ เมื่อปีที่ผ่านมา
โดยมีเป้าหมายเติมเต็มธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์บนที่ดิน40 ไร่ จากทั้งหมด 600 ไร่ ทำเลชุปเปอร์ไฮเวย์ ซึ่งเป็นที่ตั้ง สำนักงานใหญ่ของอรสิริน ที่มีเป้าหมายเปิดตัวนักเรียนคนแรกในเฟสแรกปี 2568 อายุตั้งแต่ 3-11 ปี ก่อนขยายสู่เฟสที่ 2 ปี 2570 ถึงอายุ 18 ปี ผลผลิตที่จะก้าวไปสู่รั้วมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
นายอรรคเดช อุดมศิริธำรง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ORN กล่าวถึงความคืบหน้าของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ Mill Hill International School Thailand โรงเรียนสัญชาติอังกฤษแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ว่ามีเป้าหมายนำปรัชญาและคุณค่าตามมาตรฐานการศึกษาระดับโลก เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ
ปัจจุบันการก่อสร้างเฟสแรกแล้วเสร็จ ประกอบด้วย อาคารอำนวยการ และอาคารเรียนชั้นปฐมวัย โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 4 อาคาร มีนักเรียนให้ความสนใจสมัครแล้วกว่า 130 ราย และอยู่ระหว่างการคัดเลือกคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ โดยจะรองรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 3 ถึง 10 ปี มีกำหนดเปิดทำการในเดือนกันยายนปี 2568 เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงYear 6 ซึ่งจะสามารถเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงไตรมาส 4/2568 เป็นต้นไป
พร้อมแผนขยายไปยังระดับ Year 13 ในอนาคต ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ สร้างความมั่นคงของรายได้ในระยะยาว ที่สำคัญหาผ่านการคัดเลือกได้เข้าเรียน นอกจากได้รับลดหย่อนค่าเทอมแล้วผู้ปกครองยังได้รับส่วนลดหากซื้อบ้านในโครงการ นอกจากนี้ยังมีแผนขยาย Mill Hill ไปยังภูเก็ตหลังจากเข้าไปพัฒนาโครงการมาก่อนหน้านี้
สอดคล้องกับดร.ยุทธชัย ดำรงมณี ผู้อำนวยโรงเรียนนานาชาติ Mill Hill Thailand เปิดเผยว่า Mill Hill อังกฤษเป็นโรงเรียนนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุด และ Mill Hill ในเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนแห่งแรกนอกราชอาณาจักรอังกฤษ ที่ปัจจุบันมีความพร้อมเปิดการเรียนการสอน ในปีนี้ และผู้ประครองให้ความเชื่อมั่น โดยเฉพาะผู้ปกครองคนไทย ขณะต่างชาติอาจมีสัดส่วนที่น้อยกว่า โดยเฉพาะจีน กำหนดเพดานไม่เกิน 5%
การคัดเลือกนักเรียน ต้องคัดกรองอย่างเข้มข้น มีเกณฑ์ชี้วัดผลสอบเป็นไปตามมาตรฐาน แม้ต้องการมีรายได้จากค่าเทอมจำนวนมาก และผลพลอยได้จากการขายบ้านในโครงการ แต่ คุณภาพ และคุณธรรมความชื่อสัตย์โปร่งใสของที่นี่ต้องมาก่อน ซึ่งจะตรวจสอบประวัติ ของผู้ปกครองและแหล่งที่มาของการทำธุรกิจว่าสุจริตหรือไม่ แม้ว่าจะมีผู้ปกครองถือเงินพร้อมซื้อบ้านเพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนก็ตาม เพราะหากไม่ผ่านเกณฑ์ ก็ทำอะไรไม่ได้ มองว่าเป็นความท้าทายสำหรับการสร้างคนให้มีคุณภาพที่ดีและสร้างสังคมใหม่ที่ดีให้กระจายไปทั่วโลก
ขณะการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติ ยอมรับว่ามีสูงโดยเฉพาะในเชียงใหม่ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ รวม24ราย รวมของ อรสิริน แต่หลายแห่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะการลงทุนสร้างโรงเรียนและรับครูต่างชาติมาสอนแต่ สำหรับ Mill Hill Thailand เป็นสัญชาติอังกฤษโดยแท้ ที่จบการศึกษาแล้วสามารถศึกษาต่อยังต่างประเทศได้ทันที และนี่เป็นอีกสาเหตุที่ตั้งชื่อ Mill Hill Thailand เพราะต้องการประกาศว่า แบรนด์นี้มีแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย แต่ตั้งอยู่ที่เชียงใหม่โดยอรสิริน เพราะเจ้าของโรงเรียนเคยมาท่องเที่ยวเชียงใหม่และชื่นชอบเนื่องจากบรรยากาศคล้าย Mill Hill ที่ อังกฤษ และไม่สนใจเกี่ยวกับ โมเดลธุรกิจ แต่กลับเน้นการพัฒนาคนมากกว่า จึงนำมาซึ่งการตกลงลงนามในMOU
นางอารีย์ อุดมศิริธำรง กรรมการ ORN ระบุว่า บริษัทมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนที่ดิน เพราะสะสมที่ดินมาก่อนหน้านี้ มากกว่า 30 ปี กว่า 1,200 ไร่ จากราคาไร่ละ 3-5 แสนบาท ยังเป็นท้องทุ่งนา ปัจจุบันราคาขยับไปกว่า 5 ล้านบาทต่อไร่ ที่บริษัทได้บุกเบิกพัฒนาเป็นโครงการบ้านจัดสรร กระทั่งมีความเจริญ ทั้งถนนตัดใหม่พาดผ่าน และมีโรงเรียนนานาชาติในวันนี้
“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถาม นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ถึงการแข่งขันโรงเรียนนานาชาติ โดยระบุว่า โรงเรียนนานาชาติ เริ่มร้อนแรงมาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียมหรือว่าบ้านจัดสรร สังเกตว่าไม่ว่าโครงการอะไรก็ตาม ก่อสร้างและขายอิงกับโรงเรียนนานาชาติจะขายดีหมด อย่างไรก็ตามโรงเรียนนานาชาติในเมืองไทยมีค่อนข้างมากหลายร้อยโรงซึ่งเป็นแม่เหล็กทั้งเล็กและใหญ่ของไทยและต่างชาติ
“มีแม็กเน็ตค่อนข้างมาก ผู้ปกครองส่งลูกเรียนมีเงินอยากให้ลูกสบายซื้อบ้าน-คอนโดฯใกล้โรงเรียนนานาชาติไม่อยากให้ลูกต้องตื่นเช้าดังนั้นจะขายดีมากหากอยู่ใกล้โรงเรียนพบว่าในกรุงเทพฯ มีทั้ง บางนา ดอนเมือง พระราม 3 ปทุมธานี ส่วน เชียงใหม่ อรสิริน ดีเวลลอปเปอร์ที่พัฒนาโรงเรียนเองเพิ่งเปิดใหม่เป็นเจ้าใหญ่”
นี่คือธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่จะเติบโตควบคู่ไปกับธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์เพราะไม่ว่าโรงเรียนจะตั้งที่ใดที่นั่นย่อมมีบ้าน!!!
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,070 วันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568