ยอดปล่อยกู้สินเชื่อบ้าน ติดลบต่อเนื่อง 4 ไตรมาส “อสังหาฯ” ค้างสต๊อค

18 พ.ย. 2567 | 15:11 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2567 | 15:11 น.

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยไตรมาส 3 ยอดปล่อยกู้สินเชื่อบ้านลดลง 17.9% ติดลบต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ระบุอสังหาฯ ค้างสต๊อก 23.1% มูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ ไตรมาส 3ปี 67 เป็นไปในทิศทางเดียวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย โดยมีมูลค่า 154,168 ล้านบาท ลดลง 17.9%จากปีก่อน  และลดลงติดต่อกัน 4 ไตรมาส นับตั้งแต่ ปี 66 

ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 67 สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ จะมีมูลค่า 600,812 ล้านบาท ลดลง 11.4% และคาดการณ์ปี 2568 จะมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ ทั่วประเทศ 614,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  2.3%

ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศทั้งปี 67 คาดว่ามีจำนวน 350,545 หน่วย ลดลง  4.4% มูลค่าการโอนอยู่ที่  1.01 ล้านล้านบาท ลดลง 3.3% แบ่งเป็น

  • บ้านจัดสรร  243,088 หน่วย ลดลง 6% มูลค่า 717,052 ล้านบาท ลดลง 3.4%
  • คอนโดมิเนียม 107,456 หน่วย ลดลง 0.6% มีมูลค่า 295,707 ล้านบาท ลดลง  2.9%

ทั้งนี้ ส่งผลให้โครงการที่อยู่ระหว่างการขาย ไม่รวมบ้านมือสองมีจำนวนสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล ณ ไตรมาส 3 ปี 67 มีสต๊อกเหลือ 229,182 หน่วย เพิ่มขึ้น 7% มูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.1%

สำหรับประเภทระดับราคาที่อยู่อาศัยเหลือค้างสต๊อก ที่ควรระวังในการสร้างใหม่เข้ามาในตลาด ได้แก่ อาคารชุด ควรระมัดระวัง ในกลุ่มราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท ซึ่งมีเหลือ 9,265 หน่วย ละกลุ่มราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท เหลือ 4,277 หน่วย

ส่วนทาวน์เฮ้าส์ ควรระมัดระวังในกลุ่มราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท ซึ่งมีเหลือ 7,942 หน่วย  และกลุ่ม 3.01 – 5.00 ล้านบาท ซึ่งเหลือ 5,338 หน่วย 

บ้านเดี่ยว ควรระมัดระวังในกลุ่มราคา 5.01 – 7.50 ล้านบาท เหลือจำนวน 2,559 หน่วย และระดับราคา 10.01 – 20 ล้านบาท เหลือจำนวน 1,620 หน่วย 

บ้านแฝด ควรระมัดระวังในกลุ่มราคา  3.01 – 5.00 ล้านบาท เหลือจำนวน 2,418 หน่วย และกลุ่มระดับราคา 5.01 – 7.50 ล้านบาท เหลือ 1,472 หน่วย

“ภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ไตรมาส 2 – 3 ปี 67 ปรับตัวดีขึ้น โดยติดลบน้อยกว่าไตรมาส 1 ปี 67 หลังจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ให้กับที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท  ทำให้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ขยายตัว”

ขณะที่แนวโน้มปี 68 คาดจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ 363,600 หน่วย เพิ่มขึ้น  3.7% มูลค่า 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% ประกอบด้วยบ้านจัดสรร 254,520 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.7% มูลค่า 739,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% และคอนโดฯ 109,080 หน่วย เพิ่มขึ้น 1.5% มูลค่า 303,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7%