อุตฯ-ท่องเที่ยว-อสังหา ค้านค่าแรง 400 บาททั่วไทย ปีเดียวขึ้น 3 รอบ ทุบตายหมู่

08 พ.ค. 2567 | 11:47 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 14:03 น.

ภาคอุตฯ-ท่องเที่ยว-อสังหาฯ ดับเครื่องชนรัฐ ค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ 1 ต.ค.โวยปรับปีเดียว 3 รอบ ผู้ประกอบการใช้แรงงานเข้มข้นตายหมู่ จี้ กกต.ตรวจสอบพรรคการเมืองชี้นำขึ้นค่าแรงทำได้-ไม่ได้ ผวาอนาคตวันละพันบาท สภาอุตฯเข็น 46 กลุ่ม เร่งปรับตัว พ้นกับดักค่าแรง

ร้อนไปทุกหย่อมหญ้าต่อประกาศของรัฐบาลที่เตรียมปรับขึ้นค่าจ้าง หรือค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 (จากเป้าหมายที่ 600 บาท/วันภายในปี 2570 ตามนโยบายที่หาเสียงไว้) ทั้งนี้หากมีการปรับขึ้นจะเป็นการปรับเป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จากรอบแรกปรับขึ้นไปแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เฉลี่ยทั่วประเทศที่ 330-370 บาทต่อวัน และรอบที่ 2 ปรับเพิ่มเป็น 400 บาทต่อวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2567 โดยจำกัดในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยวหลักในธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป

หอฯ-54 สมาคมออกโรงค้าน

ล่าสุดวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 หอการค้าทั่วประเทศและสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น 54 สมาคม ภายใต้การนำของนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เปิดแถลงจุดยืน คัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีตามกลไกของไตรภาคี โดยระบุเหตุผลสำคัญที่คัดค้านในครั้งนี้ว่า เป็นการปรับเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ และสังคม จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระทบต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริการ และต้นทุนการจ้างงานทั้งห่วงโซ่อุปทานเพิ่มขึ้น

เฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร ภาคการค้าและบริการ ภาคท่องเที่ยวเที่ยว ที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่ของประเทศ (SMEs มีสัดส่วน 99% ของผู้ประกอบการไทย มีประมาณ 2 ล้านรายทั่วประเทศ) จะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และอาจจะส่งผลให้มีการหยุด/ลดขนาดกิจการ จนนำไปสู่การปลดลูกจ้าง หรือเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด

อุตฯ-ท่องเที่ยว-อสังหา ค้านค่าแรง 400 บาททั่วไทย ปีเดียวขึ้น 3 รอบ ทุบตายหมู่

“ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษา และรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3 ทั้งนี้หอการค้าฯ จะนำจดหมายคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันที่ 13 พฤษภาคม ก่อนจะมีการประชุมระหว่างกระทรวงแรงงานกับคณะกรรมการค้าจ้าง (ไตรภาคี) ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้” นายพจน์ กล่าวตอนหนึ่ง

อุตฯ-ท่องเที่ยว-อสังหา ค้านค่าแรง 400 บาททั่วไทย ปีเดียวขึ้น 3 รอบ ทุบตายหมู่

จี้ กกต.สร้างความชัดเจน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย และภายใต้กลไกของไตรภาคีที่ใช้กันมานานกว่า 50 ปี ซึ่งจะใช้เรื่องใดบ้างเป็นเหตุผลหรือเป็นสูตรในคำนวณ ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยได้ โดยที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่ได้ทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ดี เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำภายใต้การชี้นำของภาคการเมือง เพื่อให้มีการปรับขึ้นตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ อยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ไปพิจารณาว่ารัฐบาลสามารถทำได้ หรือไม่ได้อย่างไร เพื่อสร้างความชัดเจนแก่ทุกฝ่าย เพราะไม่เช่นนั้นนักการเมืองก็จะใช้นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงแข่งหาเสียงไปตลอด พอได้มาเป็นรัฐบาลก็จะมาแทรกแซงกลไกไตรภาคีเพื่อกดดันให้มีการขึ้นค่าแรงตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ซึ่งรอบต่อไปอาจจะหาเสียงเกทับกันเป็น 1,000 บาท หรือ 1,200 บาทต่อวันก็เป็นได้ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับหรือให้อำนาจไว้

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

“กกต.ต้องไปดูในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งหากถามว่าการเตรียมปรับขึ้นค่าแรงเป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม และอาจมีรอบที่ 4-5 อีก ก็แสดงว่าเรายอมรับให้พรรคการเมืองเข้ามาแทรกแซงเรื่องการปรับค่าจ้างที่เป็นหน้าที่ของไตรภาคี ขณะที่ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นนายจ้างเป็นคนแบกรับภาระ รัฐบาลไม่ได้มาจ่ายให้”

จับตาลงทุนต่างจังหวัดกร่อย

ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ไม่มีประเทศใดทำกัน ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น ประเทศในยุโรป กัมพูชา และประเทศในอาเซียนอื่นๆ (ยกเว้นสิงคโปร์ บรูไน ที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก) เนื่องจากส่วนหนึ่งต้องการให้แต้มต่อด้านค่าจ้างแรงงาน เพื่อดึงการลงทุนในพื้นที่ต่างจังหวัดช่วยกระจายความเจริญ ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนไม่อยากไปลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจส่วนภูมิภาคที่รัฐบาลกำลังผลักดันเพราะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ดีสำหรับอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมาก หากมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาททั่วประเทศ (ข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุต้นทุนค่าแรงงานต่อต้นทุนทั้งหมดในแต่ละอุตสาหกรรม เฉลี่ยอยู่ที่ราว 10.2% ของต้นทุนรวม) จะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ในภาคเกษตร เช่น คนกรีดยาง มันสำปะหลัง คนตัดอ้อย ภาคประมง เป็นต้น ส่วนในภาคอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ปลา-ทูน่ากระป๋อง แปรรูปอาหารทะเล ผลไม้กระป๋อง และในภาคบริการ เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม ค้าปลีก ค้าส่ง เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับราคาสินค้าและค่าบริการตามมา

เข็น 46 กลุ่มอุตฯพ้นกับดักค่าแรง

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงก็เข้าใจในมุมของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือภาคแรงงาน ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ และลดค่าครองชีพที่เวลานี้รายได้กับรายจ่ายไม่สมดุลกัน สะท้อนได้จากหนี้ครัวเรือนที่เวลานี้มีสัดส่วนสูงถึง 91% ต่อจีดีพี การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นไปตามกลไกของไตรภาคี และต้องมีมาตรการช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ต้นทุนค่าแรงเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญที่อุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้นต้องแบกรับ เช่น สิ่งทอ การ์เมนต์ แปรรูปอาหาร อาหารแช่เยือกแข็ง ประมง รวมถึงภาคบริการท่องเที่ยว เช่นโรงแรม ร้านอาหารที่ต้องใช้พนักงานเสิร์ฟ ร้านนวด ร้านสปา ร้านขายของที่ระลึก ซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก รวมถึงในภาคเกษตรที่ต้องใช้แรงงานคนในการดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิต

สำหรับสมาชิกส.อ.ท. ณ ปัจจุบันมี 46 กลุ่มอุตสาหกรรม สัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งได้มีการปรับตัวและยกระดับสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบ AI และดิจิทัลเข้ามาช่วย ทำให้เลยจุดที่จะพูดถึงค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทไปแล้ว เพราะจ่ายสูงมากกว่านี้ แต่มีปัญหาคือ ขาดแคลน / ไม่มีบุคลากรที่มีทักษะสูงรองรับเพียงพอ

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ที่เราห่วงคือ อีกครึ่งหนึ่งของกลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิก ส.อ.ท.เป็นอุตสาหกรรมที่ยังใช้แรงงานเข้มข้น ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี เป็นกลุ่มเปราะบาง มีกำไรต่ำ ที่วันนี้เจอทั้งเศรษฐกิจที่ยังซบเซา การใช้กำลังผลิตต่ำ สินค้าต่างประเทศดัมพ์เข้ามาขายแข่งในราคาถูก ทำให้แข่งขันลำบาก วันนี้ทางส.อ.ท.ได้เร่งผลักดันสมาชิก ใน 4 Go คือ Go Digital & AI, Go Innovation, Go Global และ Go Green ซึ่งจะประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และพ้นกับดักค่าแรงขั้นต่ำ”

โรงแรมกระทบหนักเร่งปรับตัว

ด้าน นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า สมาคมโรงแรมไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 ต่อวันที่จะเกิดขึ้น เพราะจะกระทบต่อภาคธุรกิจ เช่นโรงแรม จากก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 2 เมษายน 2567 ได้รับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา

โดยนำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัด ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง ซึ่งการนำร่องปรับค่าจ้างในระดับโรงแรม 4 ดาวก็กระทบต่อต้นทุนของโรงแรมที่เพิ่มสูงขึ้น จากลูกจ้างที่มีทักษะจะได้ค่าจ้างเกิน 400 บาทอยู่แล้ว ขณะที่กลุ่มสายงานที่ไม่จำเป็นต้องมีแรงงานมีทักษะ ค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาท การที่โรงแรมจะต้องปรับค่าจ้างแรงงานในกลุ่มนี้ขึ้นเป็น 400 บาท นอกจากจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจแล้ว ยังจะกระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้เกิดปัญหาต่อธุรกิจโรงแรมที่ขาดแคลนพนักงานอยู่แล้ว

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นล่าสุดสมาคมโรงแรมได้เข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือขอสนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดฝึกอบรมให้ธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบ เพื่อทำให้โรงแรมที่ได้รับผลกระทบมีกำลังใจและยังสามารถพัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนการพัฒนาศักยภาพการทำงาน การให้บริการของแผนกต่าง ๆ และการพัฒนาศักยภาพและโอกาสด้านการตลาดโรงแรมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญเรื่องท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายให้รายได้ถึง 3.55 ล้านล้านบาทในปีนี้ โดยสรุปได้ขอรับการสนับสนุนเป็นเงินทั้งสิ้น 6.89 ล้านบาท

ก่อสร้างอ่วมต้นทุนจ่อพุ่ง15%

นางสาวลิซ่า งามตระกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การเตรียม ปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบหนักและรุนแรงมากโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เนื่องจากต้องใช้แรงงานคนมาก เบื้องต้นในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ทางสมาคมฯจะเข้าไปหารือกับกระทรวงแรงงานและสภาหอการค้าฯ ถึงประเด็นที่เกิดขึ้น

ลิซ่า งามตระกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

 “จากประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมาที่มีการขึ้นค่าแรงในอัตรา 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น การเตรียมปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นประมาณ 13-15% จากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมก่อสร้างยังไม่ฟื้นตัวจากช่วงโควิด หากมีการขึ้นค่าแรงจะกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นประเด็นที่สมาคมฯต้องหารือกับภาครัฐ อย่างไรก็ดีมองว่า การปรับขึ้นค่าแรงไม่ควรปรับขึ้นเท่ากันทุกจังหวัด โดยค่าแรงที่เหมาะสมมองว่าควรขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด ซึ่งควรจะเป็นไปตามดีมานด์และซัพพลายของระบบเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดนั้น ๆ

อสังหาฯ-SME อ่วม

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชี่เพลซ 2002 หรือ RICHY กล่าวว่า  ต้นทุน ค่าแรงของการบริการและภาคการผลิตไทยสูงอยู่แล้ว อยู่ที่จะนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอะไร หากเทียบเอเชีย  ญี่ปุ่น เกาหลีใต้  ไต้หวัน ฮ่องกง สิงค์โปร์ มีการแบ่งระดับไม่เท่ากัน ตามระดับรายได้ประชากร

โดย Tier 1 ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน มีรายได้สูง ขณะที่ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย  มีรายได้ปานกลาง หากไทยยอมรับความจริงว่าอยู่ในระดับรายได้ปานกลางต้องเทียบกับประเทศที่ Tier เท่ากัน เขาจ่ายเท่าไร เราต้องจ่ายเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ไทยมีประสิทธิภาพการผลิตไม่สูง (ปานกลาง) เท่ากับเวียดนาม แต่ค่าแรงสูงกว่าเวียดนาม หากนักลงทุนเลือกเขาจะเลือกเวียดนาม อินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้ ปัญหาค่าแรงไทยสูง เนื่องจากรัฐบาลไปหาเสียงไว้ที่ 600 บาทต่อวันในปี 2570 และต้องปรับขึ้นเป็นขั้นบันได ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีอาจต้องปิดกิจการ จากต้นทุนที่ปรับขึ้นสูงถึง 45% ไม่ไหว

เช่นเดียวกับต้นทุนบ้านจะมีผลทันทีจากการปรับขึ้นของค่าแรง และวัสดุก่อสร้างปรับขึ้นราคา ซึ่งต้นทุนแรงงานปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน  30-40% ของต้นทุนรวม และจะทำให้ราคาบ้านปรับขึ้น 5-7% ขณะกำลังซื้อไม่มี ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนต่อไป

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3990 วันที่  9 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567