หอการค้า-สมาคมการค้า คัดค้านขึ้นค่าแรง 400 บาท ขอพบรมว.แรงงาน 13 พ.ค.นี้

07 พ.ค. 2567 | 12:57 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2567 | 13:38 น.
507

หอการค้าไทยร่วม 54 สมาคม แถลงข่าวคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ แสดงจุดยืน เตรียมพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยื่นเอกสาร 13 พ.ค. นี้

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1  หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมสมาชิกภาคเอกชน จาก นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศโดยจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นั้น ทางหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงาน ขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศดังกล่าว โดยยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ตามหลักกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ต้องศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต  ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

รวมถึงความสามารถของประเภทธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด ผ่านระบบและกลไกการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เพื่อปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

การที่รัฐบาลจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ  ซึ่งเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม  จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ละจังหวัด และแต่ละประเภทธุรกิจ มีความพร้อมของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน

ดร.พจน์  อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1  หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

โดยการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น  ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริการ และต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคเกษตร  ภาคการค้าและบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงตามที่กฎหมายกำหนดจะส่งผลให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ หรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ทั้งนี้ ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจถึงต้นทุนของการทำธุรกิจและนโยบายภาครัฐ เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและความน่าสนใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ขอนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ดังนี้

  1. หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เห็นด้วยกับการมุ่งมั่นตั้งใจยกระดับรายได้เพื่อแรงงานไทยในประเทศไทยและวิถีชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้น ก็สามารถทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้แล้วเช่นกัน
  2.  ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้ง ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3
  3. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
  4. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ดังกล่าว

หอการค้า-สมาคมการค้า คัดค้านขึ้นค่าแรง 400 บาท ขอพบรมว.แรงงาน 13 พ.ค.นี้

ดร.พจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลยืนยันที่จะให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัวเลขการปรับที่เหมาะสมสอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการยอมรับมา ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ จำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิในการดำรงไว้ของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกภาคเอกชนที่มีส่วนได้เสียในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

“จากที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอกบการทั่วประเทศ พบว่า 40% ระบุจะได้ผลกระทบ โดยกระทบทุกภาคส่วน อันดับแรกเจอผลประทบหนักภาคเกษตร ตามด้วยภาคบริการ ผู้ประกอบการ SME ตอนนี้มี 54 สมาคมลงนามคัดค้าน แต่เชื่อว่าจะเพิ่มกว่า โดยหอการค้าจะนำจดหมายคัดค้านขึ้น400 บาทเท่าทั่วประเทศและเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน วันที่ 13 พฤษภาค ก่อนที่จะมประชุมระหว่างกระทรวงแรงงานกับ คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) วันที่ 14 พฤษภาคม”

หอการค้า-สมาคมการค้า คัดค้านขึ้นค่าแรง 400 บาท ขอพบรมว.แรงงาน 13 พ.ค.นี้

เปิดรายชื่อหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าฯ 52 สมาคม คัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

หอการค้าจังหวัด  ได้แก่

1) หอการค้าภาคเหนือ 17 จังหวัด

2) หอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  
20 จังหวัด

3) หอการค้าภาคกลาง 17 จังหวัด

4) หอการค้าภาคตะวันออก 8 จังหวัด

5) หอการค้าภาคใต้ 14 จังหวัด

สมาคมการค้าฯ ได้แก่

1) สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย

2) สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย

3) สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย

4) สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย

5) สมาคมยางพาราไทย

6) สมาคมน้ำยางข้นไทย

7) สมาคมธุรกิจไม้

8) สมาคมเฟอร์นิเจอร์ไทย

9) สมาคมการค้าของเล่นและผลิตภัณฑ์
  เด็กไทย

10) สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย
    ในพระบรมราชูปถัมภ์

11) สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

12) สมาคมการค้้านวัตกรรมการพิมพ์ไทย  

13) สมาคมโรงแรมไทย

14) สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

15) สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย

16) สมาคมหินอ่อนและแกรนิตไทย

17) สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

18) สมาคมอาคารชุดไทย

19) สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

20) สมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการ
    น้ำมันพลังไทย

21) สมาคมผู้ผลิตสีไทย  

22) สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย

23) สมาคมการค้าเครื่องกีฬา

24) สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย

25) สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง
    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

26) สมาคมตลาดสดไทย

27) สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

28) สมาคมกุ้งไทย

29) สมาคมอุตสาหกรรมนมและอาหาร

30) สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย

31) สมาคมการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ
    อาเซียน

32) สมาคมภัตตาคารไทย

33) สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย

34) สมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน

35) สมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย

36) สภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย

37) สมาคมรักษาความปลอดภัยภาคฟื้นเอเชีย
    (APSA)

38) สมาคมสภารักษาความปลอดภัย

39) สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัย
    แห่งประเทศไทย

40) สมาคมผู้บริหารงานรักษาความปลอดภัย
    แห่งประเทศไทย

41) สมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย

42) สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพรักษาความ
    ปลอดภัยภาคเหนือ

43) สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัย
    ภาคเหนือ

44) สมาคมผู้บริหารงานรักษาความปลอดภัย
    ภาคตะวันออก

45) สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัย
    (ภาคอีสาน)

46) สมาคมอารักขาบุคคลสำคัญ

47) สมาคมบริหารงานรักษาความปลอดภัยไทย

48) สมาคมการค้าธุรกิจคุ้มกันภัย

49) สหพันธ์นายจ้างวิชาชีพรักษาความปลอดภัย

50) ชมรมครูฝึกรักษาความปลอดภัยไทย

51) ชมรมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัย
    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

52) ชมรมบริษัทรักษาความปลอดภัยพันธมิตร
    (ภาคใต้)

53) ชมรมพันธมิตรธุรกิจรักษาความปลอดภัย

54) กลุ่มพัฒนาวิชาชีพรักษาความปลอดภัย