"ศรีสุวรรณ" ขย่มต่อปม "แอชตัน อโศก" เตรียมบุกศาลากทม.จี้เอาผิดเจ้าหน้าที่

03 ส.ค. 2566 | 18:41 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 18:50 น.

ปม "แอชตัน อโศก" ยังไม่จบ ล่าสุด "ศรีสุวรรณ จรรยา" สวมหัวโขน "สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน" เตรียมบุกศาลากทม. 4 ส.ค. นี้ ยื่นจี้ "ผู้ว่าฯชัชชาติ" ตั้งทีมสอบเอาผิดเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหาย

ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดกรณี "คอนโดแอชตัน อโศก" ซึ่งหลายฝ่ายกำลังช่วยกันหาทางออกเรื่องนี้หลังศาลปกครองสูงสุดคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการดังกล่าว 

ล่าสุด ฐานเศรษฐกิจ ได้รับข้อมูลว่า ในวันศุกร์ที่ 4 ส.ค. 2566 เวลา 10.00 น. สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำโดย นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จะเดินทางไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร 

เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อได้ดำเนินการสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่ง กรณีแอชตันอโศก ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งทั้งหมด ตามมาตรา 39 ทวิทั้ง หมด รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวต่อไป

 

ย้อนรอย "คดีแอชตัน อโศก" ศรีสุวรรณ จรรยา นำชาวบ้านฟ้องคอนโดหรู
 

กทม.แจงปมโครงการแอชตันอโศก ยันไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ใด

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกทม.ล่าสุด วันที่ 3 ส.ค.66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวถึงแนวทางการดำเนินการกับอาคารชุดแอชตัน อโศก ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

\"ศรีสุวรรณ\" ขย่มต่อปม \"แอชตัน อโศก\" เตรียมบุกศาลากทม.จี้เอาผิดเจ้าหน้าที่

รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า โครงการแอชตัน อโศก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ เรื่องการยื่นแจ้งเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง กับเรื่องการขอใบรับรองดัดแปลงอาคาร โดยบริษัทอนันดาเจ้าของโครงการแอชตัน ยื่นแจ้งครั้งแรกเมื่อปี 58 ซึ่งกทม.มีหนังสือทักท้วงไป และมีการยื่นต่อมาอีกรวม 3 ครั้ง กทม. ก็มีหนังสือทักท้วงไปตลอด

จนกระทั่งมีการฟ้องเป็นคดีกันในปี 58 และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะต้องมีการยื่นขอเปิดอาคาร ทางบริษัทฯ ได้ยื่นขอมาในเมื่อปี 60 ซึ่งกทม. ก็ทักท้วงไปเนื่องจากยังมีคดีเรื่องทางเข้า-ออก ซึ่งไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่ โดยแอชตันได้ยื่นอุทธรณ์ไปที่กรรมการควบคุมอาคาร จนกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาเห็นว่า กทม. ควรออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯให้

ซึ่งทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จึงออกใบรับแจ้งฯ ให้แบบมีเงื่อนไข โดยระบุว่า เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของรฟม. ผ่านเข้า-ออก นั้น

หากศาลมีคำพิพากษาสิ้นสุดแล้ว ผลพิจารณาทำให้อาคารดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้ใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป

\"ศรีสุวรรณ\" ขย่มต่อปม \"แอชตัน อโศก\" เตรียมบุกศาลากทม.จี้เอาผิดเจ้าหน้าที่

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กฎหมายมาตรา 41 ระบุชัดถึงเจตนารมณ์ว่า สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยให้ระยะเวลา 30 วัน ซึ่งทาง กทม. จะต้องเชิญทางบริษัทอนันดา เจ้าของโครงการแอชตันและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือว่าสามารถปรับปรุงและแก้ไขตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่ หากไม่ได้ทาง กทม. อาจจะขยายระยะเวลาให้ได้ตามเหตุอันสมควร

และขอยืนยันว่า กทม. ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ใดทั้งสิ้น แต่คำพิพากษาของศาลตัดสินให้เพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ไม่ใช่การรื้อถอน ดั้งนั้น กทม. จึงต้องให้โอกาสในการยื่นขอใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ใหม่ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ทางเข้า-ออกอาคารที่เป็นปัญหาดังกล่าวยังเปิดใช้การได้ตามปกติ ซึ่งกทม.จะเร่งดำเนินการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด แต่เรื่องดังกล่าว ไม่ใช่กรณีที่เร่งด่วนในเรื่องของความปลอดภัยของตัวอาคาร

อาทิ เรื่องโครงสร้างอาคารไม่ถูกต้องจนอาจมีความเสี่ยงเกิดการถล่ม หรือรถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปที่อาคารดังกล่าวได้ซึ่งนั้นเป็นกรณีที่เร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ เพราะฉะนั้นอาคารดังกล่าวยังปลอดภัยดีอยู่ทุกประการ แต่ปัญหาเป็นเรื่องของทางเข้า-ออกอาคารที่ต้องดำเนินการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 500 ราย และเป็นความรับผิดชอบของผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่ต้องแก้ไขปัญหา

ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะทำหนังสือถึงเจ้าของโครงการเพื่อรับทราบแนวทางในการแก้ปัญหา แล้วจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลจากรฟม. เพื่อถอดบทเรียนถึงปัญหา กระบวนการในการแก้ปัญหาหากพบกรณีดังกล่าวในอนาคต ที่กทม.จะนำข้อมูลไป พิจารณาปรับปรุงแนวทางในการอนุญาตก่อสร้างอาคารต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีปัญหาในกรณีดังกล่าว” 

รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานคร จะออกหนังสือถึงบริษัทอนันดา เจ้าของโครงการแอชตัน อโศก ให้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เบื้องต้นจะให้เวลาไม่น้อย 30 วัน แต่หากไม่สามารถแก้ไขได้ภายในกรอบระยะเวลา บริษัทฯ สามารถยื่นขอขยายเวลาได้ โดย กทม.จะพิจารณาประเมินเหตุผลว่า สมควรขยายเวลาให้หรือไม่ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ระบุไว้ว่า หากไม่สามารถทำได้ตามกำหนดระยะเวลาได้ ก็สามารถขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องสมเหตุสมผล

ในส่วนของการตรวจสอบการขออนุญาตก่อสร้างอาคารในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันเพิ่มเติม ได้มอบหมายให้สำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบปัญหาของอาคารอื่น ๆ ที่อาจจะพบปัญหาคล้ายกรณีดังกล่าว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป