ถอดบทเรียนตึกสูง "แอชตัน อโศก" โชคดี ไม่ถูกระเบิดทิ้งเหมือนตึกอินเดีย

03 ส.ค. 2566 | 16:34 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 18:10 น.
909

ถอดบทเรียนตึกสูงในเมืองนอก ที่สร้างโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เทียบกับกรณี "โครงการแอชตัน อโศก" ที่ถือว่า โชคดีกว่า "ตึกแฝดที่อินเดีย" ที่ถึงขั้นต้องถูกระเบิดทิ้ง

กรณีตัวอย่างคดีพิพาทอาคารสูง ที่โลกต้องจดจำ และเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วนี้เอง คือ การรื้อถอนอาคารตึกแฝด ที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนเมืองใหญ่แห่งหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งโลเกชันดังกล่าวตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเพราะการรื้อถอนที่ว่า ถ้าจะให้เรียกชัดๆ ต้องใช้คำว่า “ถูกระเบิดทิ้ง” จึงจะตรงที่สุด  

 

คดีความ 12 ปีก่อนศาลสั่งรื้อถอน

ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 รัฐบาลอินเดียสั่งรื้อถอนอาคารพักอาศัยความสูง 100 เมตร 2 หลังในเขตเมืองนอยดา อำเภอโคตมพุทธนคร รัฐอุตตรประเทศ หลังจากที่มีคดีความยืดเยื้อกลายเป็นข้อพิพาททางกฎหมายมายาวนานถึง 12 ปี ระหว่าง ชาวบ้าน กับ บริษัทซูเปอร์เทค (Supertech) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ

จนกระทั่งในปี 2564 ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ซูเปอร์เทค ผู้ก่อสร้างอาคารแฝด ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการก่อสร้าง ที่สำคัญหลายเรื่อง ทั้งยัง สมคบคิดกับเจ้าหน้าที่รัฐมีการทุจริตคอร์รัปชัน ฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการเว้นระยะห่างจากอาคารหลังอื่นๆในละแวกนั้น โดยอพาร์ตเมนต์บางหลังอยู่ห่างจากอาคารที่ถูกระเบิดเพียงแค่ 9 เมตร ในขณะที่กฎหมายกำหนดระยะห่างปลอดภัยเอาไว้ 20 เมตร

ภาพอดีตของตึกแฝดซูเปอร์เทค นอกจากนี้ ยังพบว่าอาคารแฝดดังกล่าว สร้างขึ้นอย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ขอความยินยอมจากบรรดาเจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่อยู่ใกล้เคียง
ดังนั้น ศาลจึงมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนทำลายอาคารทั้งสองหลังนี้ทิ้ง

อาคารสองหลังดังกล่าวที่ถูกเรียกว่า “ตึกแฝดซูเปอร์เทค” ตามชื่อเจ้าของโครงการ แต่ชื่อจริงๆนั้นคือ อาคารเอเพ็กซ์ (Apex) ความสูง 32 ชั้น และอาคารเซยาน (Ceyane) ความสูง 29 ชั้น ประกอบด้วยอพาร์ทเมนท์เกือบ 1,000 ห้องที่ไม่เคยมีผู้พักอาศัยและบางชั้นยังสร้างไม่เสร็จ เนื่องจากติดเรื่องคดีความ ซึ่งก่อนที่จะมีการระเบิดทำลาย เจ้าหน้าที่ต้องอพยพประชาชนในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงกับตัวอาคารออกมาก่อน จากนั้นจึงใช้วัตถุระเบิดน้ำหนัก 3,700 กรัมในการทำลายอาคารทิ้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 9 วินาทีเท่านั้น ทำให้เกิดฝุ่นหนาและเศษซากอาคารขนาดใหญ่ที่ทรุดพังลงมา

กว่าที่ประชาชนที่ถูกอพยพออกไปจะกลับเข้ามายังบ้านพักอาศัยของพวกเขาได้นั้น ก็เมื่อหลังจากการทำลายอาคารตึกแฝดเสร็จสิ้นลงไปแล้วอย่างน้อย 5 ชั่วโมง

ไม่มีรายงานการบาดเจ็บหรือความเสียหายต่ออาคารใกล้เคียงจากเหตุการณ์ระเบิดทิ้งอาคารตามคำสั่งศาลในครั้งนี้ 

รายงานข่าวระบุว่า ทั้ง 2 อาคารมีความสูงเกิน 97 เมตร และจุดที่อยู่ชิดกับอาคารข้างเคียงที่สุดนั้นก็ห่างกันเพียงแค่ 9 เมตร อาคารข้างเคียงที่ใกล้ที่สุดมีความสูง 12 ชั้นและมีผู้อาศัยแล้ว และเมื่อรวมอาคารใกล้เคียงทั้งหมดที่อยู่ในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบจากการระเบิดทำลายตึกแฝด ก็พบว่ามีจำนวนคอนโดมิเนียมในละแวกใกล้เคียงรวม 45 อาคาร ผู้อาศัยมีร่วมๆ 7,000 คน ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงและกลายเป็นความท้าทายอย่างที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจเกี่ยวกับการจัดการซากปรักหักพัง 8 หมื่นตันจากตึกแฝดที่ถล่มลงมา ซึ่งต้องใช้เวลาเก็บกวาดนานนับ 3 เดือน ซึ่งเศษอิฐเศษปูนส่วนใหญ่จะนำไปใช้ถมที่ดินและรีไซเคิล ทางการท้องถิ่นระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นการทำลายสิ่งปลูกสร้างครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อสร้างของประเทศอินเดีย และการดำเนินการก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้เป็นส่วนใหญ่

ถูกรื้อถอน (ระเบิดทิ้ง) ใน 9 วินาที หลังเป็นคดีความฟ้องร้องกันยาวนาน 12 ปี สร้างมาตรฐานที่เคร่งครัด ผิดข้อบังคับคือทุบทิ้ง

ในช่วงเวลานั้น ชาวอินเดียจำนวนมากมองว่า การตัดสินของศาลที่ให้ระเบิดทำลายตึกแฝดซึ่งเป็นอาคารสูงดังกล่าว เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่หนักแน่นเฉียบขาด และน่าจะเป็นคดีตัวอย่างเตือนใจนักลงทุนและบรรดาบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั้งหลายได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การรื้อถอนอาคารที่อยู่อาศัยในอินเดียเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะผู้พัฒนาโครงการหรือผู้ก่อสร้าง ถ้าหากถูกตรวจสอบเรื่องการทุจริต ก็มักจะละทิ้งโครงการกลางทาง ไม่ทันได้ก่อสร้างให้เสร็จ

จากสถิติพบว่า ในปี 2563 มีอาคาร 4 หลังในรัฐเกรละที่ถูกรื้อถอนเนื่องจากละเมิดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม

อาคารแอชตัน อโศก

ทางออกของไทย กรณีแอชตัน อโศก

ส่วนอาคารแอชตัน อโศก ของไทย ซึ่งเป็นโครงการของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด(มหาชน) นั้น เป็นคอนโดสูง 50 ชั้น จำนวนที่พักทั้งหมด 904 ยูนิต ปัญหาและบริบทที่เกิดขึ้น แตกต่างออกไป ทางนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.ยืนยันแล้ววันนี้ (3 ส.ค.)ว่า ยังมีทางออกที่ไม่ต้องรื้อถอนอาคารทิ้ง ขอให้ปรับแก้-ขออนุญาตก่อสร้างใหม่ให้ถูกต้อง โดยยืนยัน กทม.ทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่โครงการแอชตัน อโศก อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ใช้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ถูกต้องได้เป็นหลัก ขณะเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์ก่อสร้าง ไม่ได้ระบุถึงเรื่องการรื้อถอนอาคาร ดังนั้น การดำเนินการต้องพิจารณาไปตามกฎหมายอย่างรอบคอบ ทีละขั้นตอน ตามอำนาจหน้าที่ที่ กทม.ทำได้ โดยให้เวลาโครงการดังกล่าวในการแก้ไขไม่น้อยกว่า 30 วันนับจากทำหนังสือแจ้ง

หากโครงการยังแก้ไขไม่ได้ สามารถขอขยายเวลาออกไปได้โดยมีเหตุผลความจำเป็นรองรับ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ปี 2557 ก่อนตนเข้ามารับตำแหน่ง การดำเนินการจากนี้ ต้องรอบคอบเพราะมีผู้รับผลกระทบกว่า 500 รายที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องในคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก ไปแล้ว