ขาใหญ่ 'รับสร้างบ้าน' แห่ลงทุนโรงงาน ปักหมุดใหม่ สาขาย่อย ตีป้อมตลาด ภูมิภาค

11 ก.พ. 2566 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2566 | 08:33 น.

แรงส่งท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคัก และ ดึงกลุ่มกำลังซื้อที่เคยได้รับผลกระทบ กลับมาตัดสินใจ 'ปลูกสร้างบ้าน' กันอีกครั้ง ตลาดโอกาส นอกจาก กทม.และปริมณฑลแล้ว พบปีนี้ บริษัทชั้นนำในกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้าน เบี่ยงเข็ม หันทิศไปเจาะตลาดภูมิภาคเพิ่มมาก

จากสถานการณ์ตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านของไทย ปี 2565 กลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากแรงส่งเศรษฐกิจ กลุ่มบ้านหลังใหญ่ระดับราคา 5-10 ล้านบาท และ บ้านหรู 10 ล้านบาทขึ้นไป ช่วยเพิ่มขนาดตลาด และ บริษัทต่างๆ ยังสามารถเก็บยอดในกลุ่มบ้านขนาดกลาง,ขนาดเล็ก ในต่างจังหวัดได้เพิ่มมากขึ้น เพราะผู้บริโภคหันกลับมาให้ความสำคัญกับมาตรฐานการก่อสร้าง และความน่าเชื่อถือของผู้รับเหมาในช่วงโควิด-19 ทำให้ ปีที่ผ่านมา 'ตลาดรับสร้างบ้าน' กลับมาเติบโต สวนปัจจัยลบ เงินเฟ้อ แรงงานขาดแคลน และดอกเบี้ยขาขึ้น 
 

โดยทิศทางในปี 2566 ต่างเชื่อกันว่า 'กำลังซื้อ' ของผู้บริโภค ซึ่งมีที่ดินเป็นของตัวเอง จะฟื้นกลับมาดียิ่งขึ้น จากที่บางส่วนชะลอการตัดสินใจไปก่อนหน้า เพราะกังวลเศรษฐกิจ ซึ่งตลาดโอกาส นอกจากในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลแล้ว พบปีนี้ บริษัทชั้นนำในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว มีการเบี่ยงเข็ม หันทิศไปเจาะตลาดภูมิภาคเพิ่้มมากขึ้นเช่นกัน โดยสำรวจพบ มีทั้งการขยายสาขาใหม่ และ ลงทุนจัดตั้งโรงงานเพิ่ม เอื้อประโยชน์ 2 ต่อ 

'แลนดี้โฮม' สยายปีก รุก อีสาน-ตะวันออก 

เจาะบิ๊กแบรนด์ที่ได้อานิสงค์ จากการล้มหายตายจากของบริษัทเล็กๆปิดตัวลงไปในช่วงโควิด-19 โกยลูกค้า ที่หันกลับมาใช้บริการบริษัทใหญ่ ที่มีประสบการณ์ และมีผลงานประจักษ์ อย่าง บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด พบปี 2566 ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่

โดย นางสาว พรรัตน์ มณีรัตนะพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายขาย แลนดี้ โฮม ประเมินว่า แม้ปีนี้ ตลาดรับสร้างบ้าน จะมีปัจจัยลบหลายส่วนที่ต้องเฝ้าระวังกันต่อ เช่น ปัญหาเงินเฟ้อ ,ค่าวัสดุก่อสร้างปรับแพงขึ้น และ ค่าแรงปรับตัว แต่เชื่อว่า ด้วยอานิสงส์ แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคัก และ ดึงกลุ่มกำลังซื้อที่เคยได้รับผลกระทบ กลับมาตัดสินใจ 'ปลูกสร้างบ้าน' กันอีกครั้ง 

ส่วนปัญหาแนวโน้มเงินเฟ้อ เป็นทั้งบวก และ ลบให้กับตลาด เพราะ อาจเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินใจเร็วขึ้น เหตุ กังวลแนวโน้มราคาบ้านในอนาคตเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับกลยุทธ์ปีนี้ ภายใต้เป้าหมายเติบโต 5% วางยอดขายที่ 2.5 พันล้านบาทนั้น บริษัทจะเข้าไปบุกตลาดรับสร้างบ้านในภูมิภาค โดยเฉพาะ ภาคอีสาน ,ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนเพิ่มขึ้น 

นางสาว พรรัตน์ ยังเผย 'ฐานเศรษฐกิจ' ว่า  คาดหวังการเปิดตลาดใหม่ดังกล่าว จะเพิ่มยอดขายขึ้นมา 5-10% เนื่องจากพบว่า ขณะนี้หัวเมืองใหญ่ๆหลายจังหวัด ผู้บริโภคต้องการ บริษัทที่มีความชำนาญ น่าเชื่อถือ และมีบริการดีไซน์ครบวงจรให้ โดยเฉพาะตลาดกลาง-บน ราคา 8 ล้านบาทขึ้นไป ที่ต้องการนวัตกรรมบ้านใหม่ๆเสริมเข้ามาด้วย ต่างไปจากอดีต และบริษัทเตรียมเปิดสาขาใหม่อีกหลายจังหวัด เช่น ชลบุรี ,ระยองและ นครปฐม จากเดิมที่มีสาขาย่อย ในจังหวัด สระบุรี นครราชสีมา และ ราชบุรี แล้ว โดยจะใช้บ้านคอนเซ็ปต์ใหม่ 'เทรนดี้โฮม' กลุ่มบ้านหลังแรก ราคาเข้าถึงได้ เพื่อเจาะกลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่ ตามดีมานด์ที่เรียกร้องเพิ่มขึ้น  

ขาใหญ่ \'รับสร้างบ้าน\' แห่ลงทุนโรงงาน ปักหมุดใหม่ สาขาย่อย ตีป้อมตลาด ภูมิภาค

แข่งทุ่มงบ ผุดโรงงานชิ้นส่วน 

นอกจากนี้ แลนดี้โฮม ยังเผยว่า ในปีนี้บริษัทจะทุ่มงบอีก 400 ล้านบาท จัดตั้ง โรงงานผลิตพรีคาสท์ (แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป) บนพื้นที่ 100 ไร่ ในจังหวัดสระบุรี เพื่อสร้างโอกาส 2 ทาง คือ สนับสนุน ลดต้นทุนกิจการของตนเอง และ เข้าไปแข่งขันกับรายใหญ่ๆ ด้วยนวัตกรรมเสาและคานสำเร็จรูปที่ติดตั้งได้เร็วภายใน 1 วัน หวังเจาะลูกค้าโครงการอสังหาฯ บริษัทรับเหมารายย่อย ในภูมิภาคด้วย 

"การขยายธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งการเจาะตลาดใหม่ , ลงทุนเพิ่ม ปีนี้เน้นไปยังพื้นที่ภูมิภาค เพื่อตอบรับอสังหาฯหัวเมืองใหญ่ขยายตัว วัสดุแพง - ค่าจ้างขึ้น -แรงงานขาด พรีคาสท์เป็นทางเลือกให้อสังหาฯ เราเองได้ใช้ประโยชน์"

ย้อนไปก่อนหน้า อีกบริษัทใหญ่ ที่น่าจับตาในแง่กลยุทธ์ปีนี้ คือ บริษัท ซีคอน จำกัด โดยนายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการบริษัท เผยว่า ช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายเติบโต เฉียด 2 พันล้านบาท ยอดเซ็นต์สัญญาปลูกสร้างสูงสุดในรอบหลาย 10 ปี มีสัดส่วนลูกค้า เข้ามาทั้งบ้านหลังใหญ่ ราคาแพง มากกว่า 8 ล้านบาท ไปจนถึง 50 ล้านบาท และ บ้านหลังเล็ก ราคา 2 – 4.9 ล้านบาท 

โดยปีนี้ นอกจากเน้น การตลาดออนไลน์และออฟไลน์ที่เข้มข้นขึ้นแล้ว บริษัทเชื่อ แนวโน้มตลาดรวมจะขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้วางแผนลงทุน 200 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูปแห่งที่ 2 บนเนื้อที่กว่า 26 ไร่  เฟสแรกมีมูลค่า 120 ล้านบาท บริเวณลำลูกกาคลอง 12 ตั้งเป้าการผลิตเต็มกำลัง จำนวน 120,000 ชิ้นต่อปี ในระยะแรก (เฟสที่ 1) จะผลิตประมาณ 60,000 ชิ้น ต่อปี เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตเช่นกัน 


พีดีเฮ้าส์ แตกบริษัทลูก รวบกว่า 60 จังหวัด

ขณะ ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ หรือ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด ซึ่งเดินหน้ากินรวบส่วนแบ่งตลาด ในเขตกรุงเทพฯ และ จังหวัดใกล้เคียง ล่าสุด  นายพิศาล ธรรมวิเศษ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เผยว่า ปีนี้ นอกจากจะเน้นการขยายสาขาเพิ่ม ในกทม.ต่อแล้ว ยังเตรียมผังจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อกระจายการดำเนินธุรกิจ แบบรายภูมิภาคอีกด้วย 

แต่จุดประสงค์ต่างออกไป เน้นตั้งรับ ภาพการณ์ ที่ว่า ตลาดรับสร้างบ้านปีนี้ น่าจะยังทรงตัว หรือ ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 2565 จึงต้องการเปิดตลาดใหม่ 

ปัจจุบัน พีดีเฮ้าส์ มีสาขาทั่วประเทศรวม 28 สาขา ครอบคลุม กว่า 60 จังหวัด ตั้งเป้าปีนี้ ขยายเพิ่มอีก 4 สาขา รวม 32 สาขา เช่น ชัยภูมิ และ ลพบุรี  ประเมินยอดขายเฉลี่ยแต่สาขาละ 50-60 ล้านบาท หรือ คิดเป็นยอดขายรวม 1.6-1.8พันล้านบาท  

เจาะกลยุทธ์ดังกล่าว 'พีดีเฮ้าส์' ต้องการ แก้จุดตัดระหว่างปริมาณ กับขีดความสามารถ ในเชิงบริหารจัดการต่อสาขา เพื่อให้รับงานได้มากขึ้น และเร็วขึ้น นำมาสู่ ผลตอบแทนหรือทำกำไรสูงขึ้น เนื่องจากกระบวนการ สร้างบ้าน ค่อนข้างยาวและมีความยุ่งยาก 

ทั้งนี้ สิ่งที่คงจะต้องเฝ้าระวังกันเพิ่มเติมของตลาดดังกล่าว คือ ความผันผวนของต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ยังอยู่ในแนวโน้มเสี่ยงจาก 'ภาวะสงคราม' และการปรับตัว ก้าวให้ทันเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคยุคหลังโควิด และ มลพิษทางอากาศ เป็นต้น