ส.ไทยรับสร้างบ้าน หนุนนโยบายขึ้น 'ค่าแรง 600 บาท'

10 ม.ค. 2566 | 15:21 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2566 | 22:25 น.

นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน หนุน นโยบายหาเสียงขึ้นค่าแรง 600 บาท ปี 2570 ชี้ปรับตัวไม่ยาก หากเศรษฐกิจโตปีละ 5% ขณะประเมิน ปี 2566 ตลาดบ้านสร้างเองยังท้าทาย คาดมูลค่ารวมอยู่ราว 1.8 - 2 แสนล้านบาท

10ม.ค.2566 -ประเด็นนโยบายหาเสียง ขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อวัน ของพรรคเพื่อไทย โดยประกาศ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในกลุ่มผู้ประกอบการเอกชน 

 

ขณะในมุมของนายนิรัญ โพธิ์ศรี นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน มีความเห็นน่าสนใจว่า กรณีที่มีพรรคการเมืองออกมาประกาศชูนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 นั้น ปรากฎว่ามีตัวแทนกลุ่มธุรกิจหลาย ๆ รายออกมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงถึงความ “ไม่เห็นด้วย” ในส่วนของมุมมองสมาคมฯ เองกลับมีความเห็นต่าง เพราะเมื่อพิจารณาในรายละเอียดของนโยบายหาเสียงพรรคการเมืองที่ประกาศไว้ ถือว่าไม่ใช่ปัญหาที่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมืออาชีพ ควรจะคัดค้านและตื่นตระหนกใด ๆ แต่ควรสนับสนุนและ “เห็นด้วย” กับนโยบายดังกล่าว ภายใต้เงื่อนไขนโยบายที่ว่าเศรษฐกิจประเทศจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% (ปี 2566-2570)

หากมองย้อนกลับไปในอดีต เมื่อครั้งพรรคการเมืองเดียวกันนี้ ประกาศนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท ครั้งนั้นก็เห็นว่าผู้ประกอบการทั้ง SMEs และรายใหญ่ต่างก็ปรับตัวกันได้ไม่ยากนัก ส่วนหนึ่งก็พราะรัฐบาลออกนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางภาษีลง ภาระต้นทุนอีกส่วนหนึ่งผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ก็ผลักภาระให้ผู้บริโภครับแทนหรือปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ แต่ด้วยเพราะภาพรวมเศรษฐกิจประเทศเติบโตดีและประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยเพิ่มจึงไม่ได้เดือดร้อนใด ๆ

ส.ไทยรับสร้างบ้าน หนุนนโยบายขึ้น \'ค่าแรง 600 บาท\'
ยกเว้น ผู้ประกอบการโรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออกสินค้า ซึ่งเน้นการจ้างแรงงานกรรมกรค่าแรงต่ำ โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตซ้ำ ๆ ไม่ใช้แรงงานที่มีความสามารถและมีฝีมือ จึงจำเป็นต้องย้ายฐานผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดต้นทุน ผู้ประกอบการกลุ่มนี้แค่เข้ามาอาศัยตั้งโรงงานในประเทศไทยเท่านั้น และโดยมากมักจะเลือกจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานด้วยเป็นส่วนใหญ่ เพราะแรงงานคนไทยไม่นิยมทำงานด้วย

คาด ตลาดบ้านสร้างเอง ปี 66 ทรงตัว

ขณะทิศทางธุรกิจ และ ตลาดบ้านสร้างเองปี 2566 นั้น สมาคมฯ คาดว่ามีแนวโน้มทรงตัว หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 1.8 - 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ประเมินว่ามูลค่าตลาดที่ยังทรงตัวนั้น เป็นผลมาจากราคาต่อหน่วยที่สูงขึ้นตามต้นทุนก่อสร้างและราคาบ้าน (จำนวนหน่วยลดลง) ในส่วนของกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมฯ คาดว่าจะมีส่วนแบ่งจากมูลค่าตลาดบ้านสร้างเอง ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด มูลค่าประมาณ 2.5 - 2.6 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตัวแปรที่อาจจะฉุดรั้งมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านให้ชะลอตัว อาทิเช่น ความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศ การรุกขยายตลาดของกลุ่มธุรกิจบ้านจัดสรรรายใหญ่ในต่างจังหวัด การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร เป็นต้น

ส.ไทยรับสร้างบ้าน หนุนนโยบายขึ้น \'ค่าแรง 600 บาท\'

สำหรับ ปริมาณตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศในปี 2565 (มิใช่ บ้านจัดสรร) มีมูลค่ารวม 2 แสนล้านบาทเศษ แบ่งเป็นบ้านสร้างเองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท และต่างจังหวัด มูลค่า 1.55 แสนล้านบาท สำหรับธุรกิจรับสร้างบ้านหรือกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ประเมินว่าผู้บริโภคเลือกใช้บริการสร้างบ้านทั่วประเทศ มูลค่าราว 2.4 - 2.5 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 12% ของมูลค่ารวมตลาดบ้านสร้างเอง (2 แสนล้านบาท) โดยกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านมีส่วนแบ่งตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มูลค่า 1.4 - 1.5 หมื่นล้านบาท และแชร์ตลาดในต่างจังหวัด คิดเป็นมูลค่า 1.0 - 1.1 หมื่นล้านบาท

ส.ไทยรับสร้างบ้าน หนุนนโยบายขึ้น \'ค่าแรง 600 บาท\'

แนะ บริษัทรับสร้างบ้านปรับตัวรับโอกาส

นายนิรัญ ยังกล่าวถึง ทิศทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ว่า  กูรูเศรษฐกิจจากหลายสำนัก คาดการณ์ว่าโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศไทย ยังคงต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยภาครัฐตั้งเป้าดึงดูดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปี 2566 ไว้สูงถึง 20-25 ล้านคน ทั้งนี้หากรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบายและทำได้สำเร็จหรือใกล้เคียง ภาคประชาชนและผู้บริโภคก็คงจะมั่นใจกับทิศทางเศรษฐกิจหรือมีความหวังมากขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศก็มีโอกาสขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจ

 

ปี 2566 อาจนับได้ว่าเป็นปีแห่งความท้าทายของกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านอีกปีหนึ่ง ทั้งไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องการสร้างบ้านที่ให้มากกว่าแค่ที่พักอาศัยทั่วไป ฉะนั้นความพยายามจะรักษาหรือเพิ่มแชร์ส่วนแบ่งตลาดทั่วประเทศ จึงจำเป็นที่กลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านควรจะมีการปรับตัวไปในทิศทางที่สอดคล้องกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยคำนึงถึง 5 ปัจจัยสำคัญ ๆ อันได้แก่ 

  • การยกระดับมาตรฐานการสร้างบ้านและอยู่อาศัยให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ 
  • กำหนดตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายขององค์กรให้ชัดเจน 
  • การขยายพื้นที่ให้บริการหรือการขยายสาขา 
  • เน้นแข่งขันเชิงคุณภาพและบริการ อันเป็นการสร้างความแตกต่างจากผู้รับเหมาสร้างบ้านรายย่อยทั่วไป  
  • คุณภาพบ้านกับราคาต้องสมเหตุสมผล

 

" สำหรับ ในปี 2566 สมาคมฯ ประเมินว่ารูปแบบการแข่งขันยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกับปีที่ผ่านมา แต่การแข่งขันขยายพื้นที่ให้บริการจะเป็นการขยายสู่จังหวัดเมืองรองมากขึ้น และในการแข่งขันด้านบริการแบบ One Stop Service ก็จะเห็นภาพชัดมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เหตุผลเพราะพฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ตามเทคโนโลยีการอยู่อาศัยที่พัฒนาตอบโจทย์ได้มากขึ้น ทำให้การสร้างบ้านมีระบบดูแลชีวิตหรือสุขภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันรวมเข้าไว้ด้วย รวมถึงพฤติกรรมและแนวคิดของผู้บริโภคที่มองว่าไม่จำเป็นว่าต้องมีที่อยู่อาศัยหรือสร้างบ้านอยู่เฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น "