เปิดโผธุรกิจกระทบหนักสุดขึ้นค่าแรง การ์เมนต์-อุตฯ แบก 19-50% ของต้นทุน

15 ธ.ค. 2565 | 19:17 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2565 | 02:30 น.
738

เอกชน ชำแหละปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง กระทบต้นทุนภาคธุรกิจแตกต่างกันไปตามสัดส่วนต้นทุนแรงงาน ห่วง SMEs ม้วนเสื่อ เปิดโผอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ก่อสร้าง ร้านอาหาร โรงแรม อุตฯการเกษตร การ์เมนต์ แบกต้นทุนแรงงานมากสุดเฉลี่ย 7-50%

จากหลายพรรคการเมืองเริ่มเปิดนโยบายในการหาเสียงรับเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า ที่ฮือฮาและเป็นกระแสมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทยประกาศจะผลักดันค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 หากได้เป็นรัฐบาล

 

ส่วนพรรคก้าวไกล ได้แถลงเปิดนโยบาย “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” โดยในส่วนของวัยทำงานจะผลักดันการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท ซึ่งภาระที่เพิ่มขึ้นของนายจ้างรัฐจะช่วยลดภาระผู้ประกอบ SMEs ใน 6 เดือนแรก อย่างไรก็ดีแน่นอนว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภาคส่วนที่สนับสนุนคือภาคแรงงานที่เป็นลูกจ้าง ขณะที่นายจ้างหรือสถานประกอบการที่จะเป็นรับภาระในการจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ก็มีทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย จากเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากน้อยแตกต่างกันไป

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับอัตราค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อธุรกิจที่แตกต่างกันไป โดยธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากจะเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานสูง ส่วนในบางธุรกิจที่มีการปรับตัวโดยการใช้เครื่องจักรทดแทนอาจได้รับผลกระทบน้อยลง ขณะที่ธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ที่มีทั้งรายเล็กและรายใหญ่มีโอกาสที่รายเล็กรายย่อยจะไม่สามารถแข่งขันได้

 

อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานไม่มีฝีมือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะถูกปรับขึ้นค่าแรง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42.4% (อ้างอิงจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรกรรม ก่อสร้าง และภาคบริการ

 

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

 

ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุต้นทุนค่าแรงงานต่อต้นทุนทั้งหมดในแต่ละอุตสาหกรรม ประเมินว่า สัดส่วนต้นทุนแรงงานอยู่ที่ราว 10.2% ของต้นทุนรวม โดยอุตสาหกรรมการเกษตรสัดส่วนประมาณ 19%, โรงแรม ประมาณ 14%, ร้านอาหาร ประมาณ 9%, อุตสาหกรรมก่อสร้าง ประมาณ 8% และอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ประมาณ 7%

 

สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยนั้นมีความไม่แน่นอน และในแต่ละพื้นที่ก็ปรับขึ้นไม่เท่ากัน โดยจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.02% (เฉลี่ยต่ำสุด-สูงสุดที่ 328-354 บาทต่อวัน โดยปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน พบว่า สูงกว่าเวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา

 

จากนโยบายในการหาเสียง(ของพรรคเพื่อไทยในปี 2570 ที่ 600 บาทต่อวัน)ถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้นก็จะทำให้อัตราค่าแรงเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% จาก ณ ปัจจุบัน ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน ซึ่งผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ยังคงมีปัญหาด้านรายได้และสภาพคล่องในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก และความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่ไทยยังมีหลายธุรกิจที่ใช้แรงงานมากทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และ ภาคบริการ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการหยุดหรือยกเลิกกิจการ เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

 

“ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงต้องพิจารณาให้รอบด้านทุกมิติ ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง เนื่องจากการปรับอัตราค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็จะส่งต่อไปยังผู้บริโภค รวมถึงส่งผลให้นักลงทุนหลายประเทศอาจเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อไปหาแหล่งค่าจ้างที่ถูกกว่า” นายวิศิษฐ์ กล่าว

 

ขณะที่ นายยุทธนา  ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่าอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือการ์เมนต์ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากในการตัดเย็บ  ปัจจุบันมีแรงงานในอุตสาหกรรมประมาณ 7 หมื่นคน ซึ่งหากปรับขึ้นค่าแรงพรวดเดียวในอัตราสูง ๆ ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบมาก แต่หากค่อย ๆ ทยอยปรับ โดยอาจขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 500 บาทต่อวันในปี 2570 ถือว่าสมเหตุสมผลตามภาวะค่าครองชีพ เงินเฟ้อ และอื่น ๆ ที่ปรับขึ้นทุกปี ปัจจุบันต้นทุนด้านแรงงานของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มคิดเป็น 30-50% ของต้นทุนสินค้า(แล้วแต่ชนิดเครื่องนุ่งห่ม)