3 พรรคประชันนโยบาย“ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ”โกยคะแนนเลือกตั้ง

10 ธ.ค. 2565 | 12:46 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2565 | 20:00 น.
1.6 k

3 พรรคการเมือง “เพื่อไทย-ก้าวไกล-สร้างอนาคตไทย” ประชันนโยบายหาเสียง “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” หวังมัดใจผู้ใช้แรงงานที่มีสิทธิเลือกตั้งในปี 2566

 

ทำเอาฮือฮาและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกับการประกาศนโยบาย ขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ" วันละ 600 บาท และเพิ่มเงินเดือนคนจบปริญญาตรี เป็น 25,000 บาท ภายในปี 2570 หาก “พรรคเพื่อไทย” ได้เป็นรัฐบาล 


ความจริงเรื่องขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในครั้งนี้ ไม่ใช่เฉราะพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ที่ประกาศ ก่อนหน้านี้ “พรรคก้าวไกล” ก็ได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท มาแล้ว


ครั้งนี้เรียกได้ว่า พรรคเพื่อไทย เกทับ พรรคก้าวไกล สูงขึ้นไปอีก 150 บาท  



“เพื่อไทย”ชูค่าแรง 600 บาท


พรรคเพื่อไทย ที่นำโดย อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ได้แถลงเปิดนโยบายหาเสียงสำหรับใช้หาเสียงในการเลือกตั้ง ปี 2566 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยเป็น 1 ใน 10 นโยบาย หากพรรคได้เป็นรัฐบาลแล้วจะผลักดันให้เกิดขึ้น ภายในปี 2570 

 

สำหรับเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อยู่ในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจ ที่ประกาศจะทำให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เงินเดือนระดับปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน และยังมีนโยบายอื่นๆ ที่ออกแนว “ประชานิยม”อีกมากมาย โดยได้ประกาศว่า ภายในปี 2570 ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย  หากบริหารประเทศนาน 4 ปี คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง 10 ด้าน 


โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจ จากปี 2566 จนถึงปี 2570 จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศเติบโตอย่างต่ำเฉลี่ย 5% ต่อปี ช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้วยแนวคิด “รดน้ำที่ราก” จะใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นพลังขับเคลื่อน เช่น เชฟทำอาหาร นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ นักร้อง นักแต่งเพลง คนเขียนบท ยูทูบเบอร์ นักสร้างคอนเทนท์ นักออกแบบมัลติมีเดีย นักกีฬา หรือสปาเทอราปิสต์ จะทำให้มีรายได้คนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี 


ประเทศไทยมี  20 ล้านครอบครัว สามารถสร้างงานทักษะสูงได้ 20 ล้านตำแหน่ง และมีรายได้รวมกันถึงปีละ 4 ล้านล้านบาท ในปี 2570 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป  


ปรับค่าแรงเมื่อศก.ดีขึ้น


น.ส.แพทองธาร ชี้แจงว่า  หากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 600 บาทในตอนนี้ ต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการจะปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ตกต่ำและยังไม่เติบโต แต่ที่เราพูดถึงเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศที่จะเติบโตพร้อมๆ กันทั้งระบบ ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย 


ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่เคยขึ้นสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านมากว่า 10 ปี ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 10 บาทเท่านั้น ฉะนั้น พรรค เพื่อไทยต้องคิดใหญ่เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งประเทศมูฟตัวไปด้วยกัน แต่ไม่ใช่นำงบประมาณมาใช้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำรวยกระจุกจนกระจาย

 

ส่วนจีดีพีประเทศจะเติบขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% นั้น ไม่ใช่จะตายตัว 5% ทุกปี ซึ่งปีแรกอาจจะสูงกว่า 5% ก็ได้ ปีต่อมาอาจจะลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปีที่จะเติบโตได้ และดูเศรษฐกิจโลกบวกด้วย


“วันนี้ไม่แปลกเลยที่คนจะคิดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น วันนี้ยังคิดไม่ได้ ค่าแรงขึ้นเป็น 600 บาท ยังคิดไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี เมื่อเศรษฐกิจดีทั้งระบบแล้วจะไปโดยธรรมชาติของเศรษฐกิจ การเติบโตเศรษฐกิจเราต้องการเติบโตทั้งระบบทั้งประเทศ คนทุกชนชั้น คนทุกฐานะได้รับประโยชน์ ได้มีโอกาส ได้มีศักดิ์ศรี มีเกียรติที่จะสามารถออกมาใช้ชีวิตจับจ่ายใช้สอย ลดหนี้สิน ดูแลครอบครัวได้ นั่นคือคอนเซ็ปต์ที่เราเปลี่ยนตั้งแต่แคมเปญพรรคว่า เราต้องคิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ปัญหามีนานแล้ว คิดเล็กปัญหาไม่จบ ต้องคิดใหญ่แก้ปัญหาทั้งระบบ” น.ส.แพทองธาร ระบุ


“ก้าวไกล”เปิดค่าแรง 450 บาท


ด้านพรรคก้าวไกล โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ได้แถลงเปิดนโยบาย “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” เมื่อ วันที่ 5 พ.ย.2565 แบ่งตาม 5 ช่วงวัย และมีทั้งหมด 19 นโยบาย ได้แก่  


วัยเกิด ประกอบด้วย 1.ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท ให้พ่อ-แม่ซื้อสิ่งของจำเป็นในการเลี้ยงลูก 2.เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท 3.สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ 4.ศูนย์ดูแลเด็กใกล้บ้านและที่ทำงาน 


วัยเติบโต ประกอบด้วย 5. เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง 6.คูปองเปิดโลก ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน 7.ยกเลิกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัยและนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน 


วัยทำงาน ประกอบด้วย 8.ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท รัฐช่วย SME 6 เดือนแรก 9.สัญญาจ้างเป็นธรรม ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 10. แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ สอดคล้องหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ 11. ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชยและค่าเดินทางหาหมอ 12. เรียนเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ ฟรีไม่จำกัดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และคูปองเรียนเสริม 


สำหรับ วัยสูงวัย ประกอบด้วย 13. เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง 14. ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท 


ทุกอายุ ประกอบด้วย 15.บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง รัฐช่วยผ่อน-จ่ายค่าเช่า 16.น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่ 17.เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ  18.เน็ตฟรี 1 GB ต่อเดือน 19. เงินคนพิการเดือนละ 3,000 บาท 


นายพิธา กล่าวว่าชุดนโยบายสวัสดิการไทยก้าวหน้านั้น เกี่ยวข้องกับปากท้องโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับนโยบายด้านอื่นๆ เช่น การเมือง เพราะการทำสวัสดิการต้องใช้งบประมาณมาก ต้องอาศัยการจัดสรรงบประมาณใหม่ เอางบความมั่นคงมาเป็นงบสวัสดิการ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ 


“เรามาเสนอรัฐสวัสดิการที่ทำได้จริง ไม่ได้ขายฝัน สามารถหาเงินมาจ่ายรัฐสวัสดิการได้ทุกบาททุกสตางค์ เป็นนโยบายสวัสดิการก้าวหน้า ตั้งแต่เกิดจนตาย” นายพิธา ระบุ

 

                               นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ


กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำใหม่


ด้านพรรคสร้างอนาคตไทย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ได้ออกมาพูดถึงแนวนโยบายเกี่ยวกับการขั้นค่าแรง เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2565 เสนอว่า  ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายใต้ความสมดุลใน 2 ประเด็นหลัก คือ  


1.ปรับเพื่อให้แรงงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับต้นทุนค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิตในปัจจุบัน 


2.ปรับขึ้นค่าแรงต้องไม่กระทบกับผู้ประกอบการ เนื่องจากวันนี้ในภาพรวมผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ยังไม่หายบาดเจ็บจากโควิด และเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะฟื้นตัว


“การปรับค่าแรงขั้นต่ำบนพื้นฐานของความสมดุลควรทำอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า เราต้องใช้ระบบกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแบบใหม่ จากเดิมที่พิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในแต่พื้นที่จังหวัด โดยจังหวัดใดค่าครองชีพสูงก็ได้ค่าแรงสูง ค่าครองชีพต่ำก็ได้ค่าแรงต่ำ เปลี่ยนเป็นการกำหนดค่าแรงที่ยึดเอาประสิทธิภาพของแรงงานเป็นหลัก ซึ่งจะตอบโจทย์ความเป็นไปในสถานการณ์ปัจจุบัน และการพัฒนาประเทศในโลกอนาคตมากกว่า”


นายอุตตม กล่าวว่า วันนี้ประชากรในวัยแรงงานของไทย มีประมาณ 38 ล้านคน แบ่งเป็นภาคบริการและการค้า 18 ล้าน ภาคเกษตร 10 ล้าน และภาคการผลิตอุตสาหกรรม 10 ล้าน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) นับเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ จึงควรได้รับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และส่งเสริมให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างเต็มที่


“เราควรกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยแบ่งตามประเภทแรงงาน แล้วยึดเอาประสิทธิภาพ หรือ ทักษะของแรงงานเป็นตัวกำหนดอัตราค่าแรง คือ หากเป็นประเภทแรงงานเข้มข้น หรือ แรงงานที่ไม่มีทักษะก็กำหนดค่าแรงอัตราหนึ่ง ที่สามารถอยู่ได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีพอ แต่หากเป็นแรงงานที่ต้องใช้ทักษะเพิ่ม ก็ควรได้รับอัตราค่าแรงที่สูงกว่า”


ขณะเดียวกันภาครัฐ ก็จะต้องมีมาตรการยกระดับทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานขั้นพื้นฐานสามารถยกระดับขึ้นไปขั้นที่สูงกว่า ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับของประเทศสิงคโปร์ ตัวอย่างอาชีพแม่บ้านที่นั่นหากเป็นแม่บ้านทั่วไป ก็จะได้ค่าแรงราคาที่ต่ำกว่าแม่บ้านที่ทำงานสถานที่บริการ หรือ ในสถานที่ราชการ เพราะถือว่าต้องใช้ทักษะการบริการด้วย หากทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นการสนับสนุนให้แรงงานเป็นส่วนสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง 


นอกจากนี้ แรงงานในระดับมีการศึกษาสูง เช่น อนุปริญญา ปริญญาตรี ซึ่งถือเป็นกลุ่มหัวขบวนในการพัฒนาประเทศ น่าจะใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างรายได้แรงงานกลุ่มนี้ ให้รองรับกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศในโลกยุคใหม่ตามที่ผมเคยกล่าวไว้ก่อนหน้า  


“หากเรียนจบสาขาอาชีพที่ตรงกับธุรกิจ หรือ อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ก็ควรได้รับค่าแรงสูงกว่าอาชีพอื่น เช่น สาขาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น ซึ่งก็จะเป็นการจูงใจให้มีตลาดแรงานป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจ หรือ อุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศมากขึ้น และเช่นกันภาครัฐก็ต้องมีมาตรการช่วยพัฒนาในทุกสาขาอาชีพ ให้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะและรายได้ด้วย” นายอุตตม ระบุ


ยิ่งใกล้เลือกตั้ง “นโยบายประชานิยม” ก็ถูกคิดขึ้นมาใช้ในการหาเสียงอยู่เรื่อย ๆ เพื่อหวัง “มัดใจ” ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ส่วนนโยบายของใคร พรรคไหน จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณตรองดูก็แล้วกัน...