เปิดนโยบายหาเสียง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ประชานิยมมัดใจผู้ใช้แรงงาน

08 ธ.ค. 2565 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2566 | 15:22 น.
696

เปิดนโยบายหาเสียง “ค่าแรงขั้นต่ำ” นโยบายประชานิยมมัดใจผู้ใช้แรงงาน เลือกตั้งครั้งหน้า พรรคไหนสัญญาอะไรกับแรงงานแล้วบ้าง บันทึกไว้เลย

บรรยากาศทางการเมืองคึกคักขึ้นเรื่อยๆ หลังจากภาพการเลือกตั้งครั้งหน้าเริ่มฉายภาพชัด ทั้งอายุรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใกล้ครบวาระมาทุกขณะ อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ตั้ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ล้วนผ่านฉลุย นอกจากการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครของบรรดาพรรคการเมืองแล้ว การเปิดนโยบายหาเสียงก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากนโยบายโดนใจ คะแนนเสียงย่อมหลั่งไหล นโยบายประชานิยมด้านแรงงาน จึงเป็นหนึ่งในนโยบายดึงดูดคะแนนเสียงจากประชาชน

 

จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ปี 2564 ประเทศไทย มีกำลังแรงงานรวม 38.7 ล้านคน จำนวนนี้คือคะแนนเสียงจำนวนมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น หลายพรรคการเมืองจึงทยอยออกนโยบายเพื่อเอาใจกลุ่มแรงงาน 

เปิดนโยบายหาเสียง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ประชานิยมมัดใจผู้ใช้แรงงาน

 

พรรคเพื่อไทย 

  • ชูค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน
  • เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป

ทั้งหมดภายในปี 2570 ประกาศโดย หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แพทองธาร ชินวัตร ในการประชุมใหญ่วิสามัญ ประจำปี 2565 (6 ธ.ค. 65) ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ภายใต้แคมเปญ “คิดใหญ่ ทำเป็นเพื่อไทยทุกคน” เปิด 10 นโยบายเปลี่ยนแปลงประเทศ 

แพทองธาร ชินวัตร

พรรคก้าวไกล 

  • ชูค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท รัฐช่วย SME 6 เดือนแรก 
  • สัญญาจ้างเป็นธรรม ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  
  • แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ สอดคล้องหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 
  • ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชยและค่าเดินทางหาหมอ 
  • เรียนเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ ฟรีไม่จำกัดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และคูปองเรียนเสริม

ประกาศในงานแถลงข่าวเปิดนโยบายชุดที่สอง “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” (5 พ.ย. 65)โดยแกนนำพรรค นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคก้าวไกล 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

พรรคสร้างอนาคตไทย

  • ชูขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายใต้ความสมดุล ด้านการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพของแรงงาน และ ไม่กระทบกับผู้ประกอบการในช่วงฟื้นตัวจากโควิด โดยเฉพาะ SME
  • เปลี่ยนระบบกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยยึดประสิทธิภาพของแรงงานเป็นหลัก
  • มาตรการยกระดับทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานขั้นพื้นฐานยกระดับขึ้นไปขั้นที่สูงกว่า เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์
  • ปรับโครงสร้างรายได้แรงงานในระดับมีการศึกษาสูง เช่น อนุปริญญา ปริญญาตรี

ประกาศโดย อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ดร.อุตตม สาวนายน ในการแสดงความเห็นต่อประเด็นค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย(8 ธ.ค.65)

อุตตม สาวนายน