“อุตตม”ชี้ปรับ“ค่าแรงขั้นต่ำ”ต้องให้แรงงานอยู่ได้-ไม่กระทบผู้ประกอบการ

07 ธ.ค. 2565 | 21:06 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2565 | 04:13 น.

“อุตตม”ชี้ปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ”ต้องพิจารณาภายใต้ 2 ความสมดุล “ปรับเพื่อให้แรงงานดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับต้นทุนค่าใช้จ่ายปัจจุบัน และ ต้องไม่กระทบผู้ประกอบการ”

 

วันนี้(7 ธ.ค.65) นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ช่วง 2 วันที่ผ่านมา กระแสสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายใต้ความสมดุลใน 2 ประเด็นหลัก คือ 


1.ปรับเพื่อให้แรงงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับต้นทุนค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิตในปัจจุบัน 2.ปรับขึ้นค่าแรงต้องไม่กระทบกับผู้ประกอบการ เนื่องจากวันนี้ในภาพรวมผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังไม่หายบาดเจ็บจากโควิด และเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะฟื้นตัว


ผมอยากเชิญทุกท่านร่วมกันคิดหาทางออกว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำบนพื้นฐานของความสมดุลควรทำอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า เราต้องใช้ระบบกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแบบใหม่ จากเดิมที่พิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในแต่พื้นที่จังหวัด

 

โดยจังหวัดใดค่าครองชีพสูงก็ได้ค่าแรงสูง ค่าครองชีพต่ำก็ได้ค่าแรงต่ำ เปลี่ยนเป็นการกำหนดค่าแรงที่ยึดเอาประสิทธิภาพของแรงงานเป็นหลัก ซึ่งจะตอบโจทย์ความเป็นไปในสถานการณ์ปัจจุบัน และการพัฒนาประเทศในโลกอนาคตมากกว่า


 

 

วันนี้ประชากรในวัยแรงงานของไทยมีประมาณ 38 ล้านคน แบ่งเป็นภาคบริการและการค้า 18 ล้าน ภาคเกษตร 10 ล้าน และภาคการผลิตอุตสาหกรรม 10 ล้าน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) นับเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ จึงควรได้รับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และส่งเสริมให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างเต็มที่


ทั้งนี้เราควรกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยแบ่งตามประเภทแรงงาน แล้วยึดเอาประสิทธิภาพ หรือ ทักษะของแรงงานเป็นตัวกำหนดอัตราค่าแรง คือ หากเป็นประเภทแรงงานเข้มข้น หรือ แรงงานที่ไม่มีทักษะก็กำหนดค่าแรงอัตราหนึ่ง ที่สามารถอยู่ได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีพอ แต่หากเป็นแรงงานที่ต้องใช้ทักษะเพิ่ม ก็ควรได้รับอัตราค่าแรงที่สูงกว่า 


ขณะเดียวกันภาครัฐ ก็จะต้องมีมาตรการยกระดับทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานขั้นพื้นฐานสามารถยกระดับขึ้นไปขั้นที่สูงกว่า ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับของประเทศสิงคโปร์ ตัวอย่างอาชีพแม่บ้านที่นั่นหากเป็นแม่บ้านทั่วไป ก็จะได้ค่าแรงราคาที่ต่ำกว่าแม่บ้านที่ทำงานสถานที่บริการ หรือ ในสถานที่ราชการ เพราะถือว่าต้องใช้ทักษะการบริการด้วย หากทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นการสนับสนุนให้แรงงานเป็นส่วนสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง


นอกจากนี้ในส่วนของแรงงานในระดับมีการศึกษาสูง เช่น อนุปริญญา ปริญญาตรี ซึ่งถือเป็นกลุ่มหัวขบวนในการพัฒนาประเทศ เราน่าจะใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างรายได้แรงงานกลุ่มนี้ ให้รองรับกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศในโลกยุคใหม่ตามที่ผมเคยกล่าวไว้ก่อนหน้า 


โดยหากเรียนจบสาขาอาชีพที่ตรงกับธุรกิจ หรือ อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ก็ควรได้รับค่าแรงสูงกว่าอาชีพอื่น เช่น สาขาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น ซึ่งก็จะเป็นการจูงใจให้มีตลาดแรงานป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจ หรือ อุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศมากขึ้น และเช่นกันภาครัฐก็ต้องมีมาตรการช่วยพัฒนาในทุกสาขาอาชีพ ให้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะและรายได้ด้วย


ผมคิดว่าการปรับแนวคิดวิธีกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแบบยึดประสิทธิภาพแรงงาน นอกจากจะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อผู้ใช้แรงงานเองแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งขึ้นด้วย เป็นการสร้างสมดุลทั้งด้านแรงงานและผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศทั้งระบบ  


สิ่งที่ผมนำเสนอนี้อยู่บนฐานความคิดว่า วันนี้เราไม่ควรย่ำอยู่กับแนวทางแบบเดิมๆ แต่ต้องเร่งพัฒนาด้วยวิถีทางใหม่ๆ ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และครั้งหน้าผมจะมาขยายแนวคิดนี้เพิ่มเติม เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าหากประเทศไทยไม่เดินบนวิถีทางใหม่จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจประเทศอย่างไร  

 

เช่น กรณีล่าสุด การประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 5.55 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวนั้น อย่าประมาทนะครับ เพราะมีอะไรซ้อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งอีกเยอะ ครั้งหน้าผมจะนำเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนกับทุกท่านอีกครั้ง