'ทางเดิน' เชื่อมชีวิต เมื่อ 'ประเทศไทย' ยังตามหลังสากล

27 พ.ค. 2565 | 16:48 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2565 | 23:54 น.
986

เปิด รูปแบบ 'ทางเดิน' ตามแนวคิด TOD การพัฒนาของเมืองสากล ที่ กทม.ไม่ติดฝุ่น เพราะเมื่อโครงข่ายทางเดินเท้าดี รถยนต์ส่วนตัวก็ไม่จำเป็น

27 พ.ค.2566 - กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. นับเป็นเมืองใหญ่ ศูนย์กลางการปกครอง , ด้านคมนาคม ขนส่งสาธารณะ และเมืองท่องเที่ยว ที่สำคัญไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งนี้ เส้นทางเดินเท้าที่สวยงาม น่าเดิน กลับเป็นจุดบอด ที่ทำให้เสน่ห์ของเมืองใหญ่เมืองนี้ขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย 

\'ทางเดิน\' เชื่อมชีวิต  เมื่อ \'ประเทศไทย\' ยังตามหลังสากล

ซึ่งหากชีวิต คือ การเดินทาง และทุกการเดินทางเริ่มต้นจากการเดินเท้าเสมอ ดังนั้นการมีเส้นทางเดินเท้าสวยงาม น่าเดิน แล้วการสร้างโครงข่ายทางเดินเท้าเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ของเมืองเข้าสู่สถานีขนส่งสาธารณะ ด้วยโครงข่ายทางเดินเท้าที่ชักชวนให้ประชาชนเดินเท้าเข้ามาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลควรเป็นอย่างไร 'ฐานเศรษกิจ' พาถอดองค์ประกอบ ของ แนวคิด การออกแบบพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะ TOD (Transit Oriented Development)  จุดเริ่มต้นการเดินทางที่ดี ในทุกวันของคนเมือง 

1.เดินถึงสถานีภายใน 10 นาที

แนวคิดในการออกแบบโครงข่ายทางเดินเท้าตามแบบ TOD นั้นมักวางโครงข่ายออกเป็น 2 ระยะคือ รัศมี 400 เมตร และรัศมี 800 เมตรจากตัวสถานีขนส่งสาธารณะ ซึ่งทั้ง 2 ระยะนี้จะต้องออกแบบเส้นทางเดินเท้าที่ช่วยให้ประชาชน เดินถึงสถานีภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที ซึ่งเป็นช่วงระยะทางและเวลาที่ประชาชนสามารถเดินได้ โดยไม่รู้สึกว่าสถานีขนส่งสาธารณะนั้นอยู่ไกลเกินไป จนรู้สึกไม่อยากเดิน

 

ในกรณีที่เป็นเขตเมืองที่มีความหนาแน่นผู้อยู่อาศัยสูง จะนิยมสร้างสถานีถัดไปให้ห่างกันประมาณ 800 – 1,200 เมตร เพื่อให้มีรัศมีโครงข่ายทางเดินเท้าครอบคลุมระยะไม่เกิน 800 เมตรจากย่านชุมชน จึงเป็นที่สังเกตว่าสถานีรถไฟฟ้าระบบรางในเมือง มักอยู่ไม่ห่างกัน เราสามารถเดินจากสถานีหนึ่งไปอีกสถานีหนึ่งได้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยมากนัก หรือเลือกได้ว่าจะเดินขึ้นสถานีใดที่ใกล้กับปลายทาง และประหยัดค่าเดินทางมากที่สุด

\'ทางเดิน\' เชื่อมชีวิต  เมื่อ \'ประเทศไทย\' ยังตามหลังสากล
 

2.มีสิ่งดึงดูดใจ

ป้ายโฆษณา ต้นไม้ ร้านค้า การออกแบบทางเดินเท้า และทัศนียภาพของเมือง คือสิ่งดึงดูดผู้คนให้หันมาใช้โครงข่ายทางเดินเท้า เข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะ แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะร้านค้าต่างๆ ริมทางเดิน ถือเป็นสิ่งดึงดูดผู้คนให้หันมาใช้การเดิน เพื่อเข้าถึงร้านค้าเหล่านี้ได้อย่างสะดวกสบายมากกว่าการขับรถส่วนบุคคล ซึ่งอาจไม่มีที่จอดรถรองรับมากพอ

 

ระหว่างทางเดิน ควรมีเก้าอี้นั่งพักใต้ร่มไม้ และบริเวณหน้าร้านค้า ซึ่งสามารถนั่งพักผ่อนหย่อนใจ หรือใช้เป็นจุดนัดหมายนั่งรอเพื่อน ทำให้ทางเดินเท้าไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางสำหรับสัญจรเท่านั้น แต่ยังเป็นเส้นทางเชื่อมโยงสังคมคนเมืองเข้าด้วยกัน

 

ที่ขาดไปไม่ได้เลยในเส้นทางเดินก็คือ การเดินผ่านอาคารหรือสถานที่ ที่มีสถาปัตยกรรมการออกแบบที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นอาคารเก่าหรือใหม่ ทั้งหมดคือเอกลักษณ์ของเมือง เป็นแลนด์มาร์กหรือจุดท่องเที่ยว และทำให้เมืองน่าเดินสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่ต้องการเดินทางมาสัมผัสเมืองอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

\'ทางเดิน\' เชื่อมชีวิต  เมื่อ \'ประเทศไทย\' ยังตามหลังสากล

3.ทางเดินเท้าที่หลากหลาย

การสร้างโครงข่ายทางเดินเท้าลักษณะทางเดินเท้า ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ทางเดินเท้าที่มีขอบทางเดิน ยกสูงจากระดับพื้นถนน และขนานไปกับช่องทางเดินรถเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงทางเดินรูปแบบต่างๆ เป็นตัวเลือกสำหรับประชาชนในการเลือกเส้นทางเดินที่มีความหลากหลายเช่น

 

  • เส้นทางเดินลัด ในทุกเมืองเราจะพบเห็นเส้นทางเหมือนตรอก ซอกซอย ขนาดเล็ก ที่ไม่ได้สวยงามเหมือนเส้นทางหลัก แต่สามารถประหยัดเวลาการเดินในชั่วโมงเร่งด่วน ขณะเดียวกันยังเหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบเดินในเส้นทางที่พลุกพล่านด้วยผู้คน และมีความสำคัญในแง่การเข้าถึงพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยของเมือง ซึ่งทำให้ผู้อยู่อาศัย สามารถเดินเท้าเพื่อเข้าถึงสถานีขนส่งสาธารณะซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของการเดินทาง ตั้งแต่เปิดประตูออกจากบ้าน

 

  • เส้นทางเดินภายในอาคาร ในการออกแบบพื้นที่ใช้งานแบบผสมผสาน (Mix Used) ในย่านใจกลางเมือง จะเน้นการใช้งานที่หลากหลาย เป็นทั้งสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้าภายในอาคาร จึงต้องออกแบบเส้นทางเดินภายในอาคารให้เชื่อมโยงกับทางเดินภายนอก

 

" ดังนั้นเส้นทางเดินภายในอาคารจึงถือเป็นหนึ่งในโครงข่ายทางเดินเท้า เป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถเดินลัดเส้นทางเข้าไปภายในอาคารแล้วเดินออกไปสู่ถนนอีกฝั่งหนึ่ง แทนที่การเดินทางเท้าอ้อมตึกเพื่อข้ามไปอีกฝั่ง ซึ่งทำให้เสียเวลาเพิ่มขึ้น" 

 

" ตัวอย่างเช่นในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าโอซาก้า ประชาชนสามารถเดินเข้าตัวสถานีได้จากอาคารศูนย์การค้าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเช่น อาคารศูนย์การค้า โยโดบาชิ คาเมร่า และ อาคารแกรนด์ ฟรอนท์ โอซาก้า ซึ่งเป็นอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า ประชาชนสามารถเดินตัดผ่านตัวอาคารเพื่อเข้าสู่ทางเดินสกายวอล์ค เข้าสู่ตัวสถานีได้โดยตรง ซึ่งทางเดินภายในอาคารอื่นในบริเวณใกล้เคียงก็เชื่อมต่อกับสกายวอล์คไปสู่สถานีรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน " 

\'ทางเดิน\' เชื่อมชีวิต  เมื่อ \'ประเทศไทย\' ยังตามหลังสากล

  • เส้นทางเดินใต้ดิน โครงข่ายทางเดินเท้าอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ การออกแบบโครงข่ายทางเดินเท้าใต้ดิน ตามแนวทางของ TOD การออกแบบเส้นทางนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเดินลงสู่ตัวสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเท่านั้น แต่ควรออกแบบให้มีการเชื่อมต่อกับชั้นใต้ดินของอาคารต่างๆ ที่อยู่โดยรอบสถานีทำให้ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องเสียเวลา  เดินออกจากสถานีรถไฟใต้ดินเพื่อเดินต่อไปยังอาคารโดยรอบที่ต้องการ

 

"ยกตัวอย่างในสถานีรถไฟฟ้าโอซาก้า จะมีโครงข่ายทางเดินใต้เชื่อมกับอาคารที่อยู่ในรัศมี 400 เมตร รวมทั้งสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น สถานีโอซาก้า อุเมดะ, นิชิ อุเมดะ ,คิตะ ชินชิ และ ฮิกาชิ อุเมดะ รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังศูนย์การค้าทั้งหมด ด้วยทางเดินใต้ดิน ในช่วงเช้าและเย็นในย่านสถานีรถไฟโอซาก้า เราจะไม่เห็นชาวโอซาก้าเดินบนทางเดินเท้าบนดินมากนัก พวกเขามักเลือกเดินใต้ดินข้ามไปมาระหว่างสถานีรถไฟกับที่ทำงาน เป็นเส้นทางลัดเพราะไม่ต้องรอสัญญาณไฟข้ามถนน อีกทั้งยังใช้หลบฝน และอากาศที่หนาวเย็นของโอซาก้าได้อีกด้วย"

 

  • เส้นทางเดินบนลานกว้าง ลานกว้างที่อยู่ใกล้กับอาคารสูงและสวนสาธารณะ นับเป็นรูปแบบทางเดินเท้าด้วย เช่นกัน เพราะเราสามารถเดินเท้าผ่านพื้นที่ลานกว้างไปยังอาคารที่ต้องการไป ลานกว้างส่วนใหญ่มักจะออกแบบตามหลักภูมิสถาปัตย์ โดยคำนึงถึงทิวทัศน์ของเมือง ทิศทางแสงแดด และกระแสลม ทำให้ช่วงเช้าและเย็น ลานกว้างจะกลายเป็นที่ร่มจากเงาของอาคาร เหมาะสำหรับจัดกิจกรรมสำคัญของเมือง หรือใช้เป็นสถานที่นัดพบและทำกิจกรรมร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี 


"ยกตัวอย่างบริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน เวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมีเส้นทางเดินในรูปแบบสวนสาธารณะ และสถานที่ท่องเที่ยว ที่สามารถเดินถึงอาคารสถานีได้หลายแห่งไม่ว่าจะเป็น สวนสาธารณะเซ็นต์เจมส์ และ พาร์เลียเมนท์ สแควร์ การ์เด้น หากเดินทางโดยเรือ ก็สามารถเดินจากท่าเรือเวสต์มินสเตอร์ เลียบแม่น้ำเทมส์ เข้าสู่ตัวสถานีรถไฟใต้ดินเวสต์มินสเตอร์ได้ "

 

" จุดเด่นของเส้นทางเดินแบบลานกว้างใกล้กับสถานีเวสต์มินสเตอร์ คือ เส้นทางเดินที่เราสามารถมองเห็นหอคอยบิ๊กเบน, ชิงช้าสวรรค์ ลอนดอนอายและสะพานเวสต์มินสเตอร์ พร้อมชมความงามของวิวแม่น้ำเทมส์ได้ในคราวเดียวกัน" 

 

" ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่าการออกแบบโครงข่ายทางเดินเท้า ตามแนวทางของ TOD ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับ การสร้างเส้นทางเชื่อมต่อกับสถานีขนส่งสาธารณะเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างทางเดินที่มีความหลากหลายแก้ประชาชนในเมือง เพราะไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนแตกต่างกัน การเลือกทางเดินชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่างด้วยเช่นกัน" 

 

ที่มา : บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด,www.kinder.rice.edu (The Kinder Institute for Urban Research)