กทม.นำร่องยืดจ่ายภาษีที่ดิน 100% เอกชนภูเก็ตวอนลด90%ถึงปี67

04 ก.พ. 2565 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2565 | 18:21 น.
6.2 k

เก็บภาษีที่ดินปี 2565 เต็ม 100% ป่วน! กทม.นำร่อง ช่วยประชาชน-เจ้าของกิจการ ยืดเวลา ออกไปเดือนมิ.ย.หลังมีเสียงสะท้อนขอลด 90% เหตุโควิดยังระบาด จับตา อบต.-เทศบาลแห่ขยายตาม ขอนแก่นยังดูท่าที ภูเก็ตวอนลด 90% ถึงปี 67

 

"กทม.ยืดจัดเก็บภาษีที่ดินปี2565" นโยบายกระทรวงการคลังยืนยันจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ในอัตราเต็ม 100% ส่งผลให้ประชาชนตลอดจนเจ้าของกิจการผู้ถือครองทรัพย์สินได้รับผลกระทบโดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของอาคารพาณิชย์ประกอบกิจการค้าขายธุรกิจบ้านเช่าอพาร์ทเมนต์นักลงทุนผู้ซื้อบ้านหลังที่สอง

 

 

ที่น่าเห็นใจจะเป็นประชาชนที่ครอบครองพื้นที่ทำกินที่ไม่ใช่หลักฐานโฉนดทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นเหมือนที่ดินประเภทเกษตรกรรมและบ้านหลังแรก (มีชื่อในทะเบียนบ้าน) มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ตามต่างจังหวัดประเมินว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

 

อย่างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)เทศบาล ฯลฯ ต้องออกหลักเกณฑ์ท้องถิ่นผ่อนปรนหรือใช้ดุลยพินิจในการเรียกเก็บภาษีเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน เช่นล้านละ 100 บาท กรณีที่ดินเกษตรกรรมหรือ 0.01%  หากทำโฮมสเตย์ ร้านค้าฯลฯจะเสียภาษีในอัตราอื่นๆ (พาณิชย์/อุตสาหกรรม) ต่ำสุดมูลค่า 0-50 ล้านบาทเสียภาษี 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาทเป็นต้น

กทม.นำร่องยืดจ่ายภาษีที่ดิน 100% เอกชนภูเก็ตวอนลด90%ถึงปี67

ปมร้อนดังกล่าวกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้เริ่มนำร่องขยายเวลาชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 จากเดิมต้องชำระภายในเดือนเมษายน ที่จะถึงนี้  ทั้งนี้รายงานข่าวจากกทม.ระบุว่า พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมืองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งขยับให้ประชาชนที่อยู่ในข่ายเสียภาษีที่ดินสามารถจ่ายในเดือนมิถุนายนได้

 

โดยให้เหตุผลว่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน  ขณะเดียวกัน ปริมาณที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นในกทม.เกือบ 3 ล้านแปลงตลอดจนอาคารใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากจากเมืองขยายไปตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า จึงต้องรอบคอบในการคำนวนหากผิดพลาดอาจเกิดการร้องเรียนได้ และหากมูลค่าอัตราภาษีเกิน 3,000 บาทสามารถแบ่งชำระได้ 3 งวด

ทั้งนี้ภาษีที่ดินปี 2565 หากกทม.สามารถจัดเก็บ 100% ประเมินว่าน่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท เท่ากับปี 2561 ของการใช้ภาษีโรงเรือนเมื่อเทียบยอดจัดเก็บภาษีของกทม.ปี 2563 (ลดหย่อน 90%) มีรายได้ 7,800 ล้านบาท ปี 2564 (ลดหย่อน90%) 5,800 ล้านบาท ซึ่งปี 2564 จัดเก็บรายได้ลดลงเนื่องจากประชาชนเจ้าของกิจการได้รับความเสียหายจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นเวลายาวนานเกือบ 1 ปีเมื่อเทียบกับปี 2563

               

อย่างไรก็ตามท้องถิ่นเมืองใหญ่ทั้งกทม.และหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญมักได้เปรียบสามารถเรียกเก็บภาษีได้ค่อนข้างมากเพราะอาคารส่วนใหญ่ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์แต่นางสมใจ สุวรรณศุภพนา อดีตนายกเทศบาลนครภูเก็ตในฐานะผู้ประกอบกิจการโรงรับจำนำเอกชนและธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง

 

ระบุว่า เทศบาลนครภูเก็ต ควรขยายเวลาจัดเก็บออกไป โดยยอมรับว่าเอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลควรลดหย่อน การชำระภาษีลง 90% ออกไปถึงปี 2567 เนื่องจากภาคท่องเที่ยวยังไม่กลับมา

 

ด้านนายธีระศักดิ์  ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ระบุกรณีกทม.ยืดเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินออกไปถึงเดือนมิถุนายน เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนที่อยู่ในข่ายเสียภาษี 100% มองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้เทศบาลจะกลับไปพิจราณาในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน

 

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ปี 2564  อยู่ที่ 15 ล้านบาท หลังลดหย่อน 90% หากเก็บ 100% จะมีรายได้ 150 ล้านบาท ส่วนปี 2565 เก็บภาษีที่ดินเต็ม 100% เป้าหมายรายได้ 170 ล้านบาท โดยรายได้ที่จัดเก็บได้ จะนำไปพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เช่นซ่อมแซมถนน แผนป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้งฯลฯ