3 สมาคมอสังหาฯ จี้รัฐทบทวน หยุดก่อสร้าง 30 วัน สูญ 8 หมื่นล้าน

29 มิ.ย. 2564 | 08:33 น.
2.0 k

3 สมาคมธุรกิจอสังหาฯ ถกเข้ม รัฐสั่งปิดแคมป์​แรงงาน - หยุดก่อสร้าง​ 30​ วัน คาดสูญ 8 หมื่นล้าน จ่อยื่นหนังสือขอทบทวน - ผ่อนปรน แคมป์ไร้ผู้ติดเชื้อ ให้ก่อสร้าง - เก็บงานได้ ควบคู่ตรวจคัดกรอง จัดสรรวัคซีนให้เป็นกลุ่มแรก

ค่ำวานนี้ ( 28 มิถุนายน 2564 ) กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ,สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเสวนาย่อย ถกปัญหา และทางออก กรณี ศบค.มีคำสั่ง ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทาง และเคลื่อนย้ายแรงงาน ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม  เป็นเวลา  1 เดือน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคแบบ “Bubble and Seal” จากการเป็นคลัสเตอร์ แพร่ระบาดเชื้อโควิด19 อย่างหนัก ซึ่งทำให้งานก่อสร้างภาพรวม ไม่สามารดำเนินการได้ กระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ไทย ทั้งโครงการบ้านจัดสรร และ คอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 

โดย นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ยอมรับว่า ที่ผ่านมา แคมป์ที่พักอาศัยของแรงงานกลุ่มก่อสร้าง มีจุดบอดหลายส่วน แม้ที่ผ่านมา ทั้งผู้รับเหมาและผู้ประกอบการ พยายามใช้ระบบคัดกรอง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคมาโดยตลอด แต่ด้วยสภาพความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของกลุ่มคนดังกล่าว ทำให้มีความเสี่ยงทุกระดับ ตั้งแต่การกั้นห้องอยู่อาศัยกันอย่างแออัด , การอาบน้ำในบ่อพักน้ำเดียวกัน ,กิน-ดื่ม จากภาชนะเดียวกัน และที่สำคัญ 

พบว่า กลุ่มแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านสุขอนามัยที่ดี ไม่เข้าใจการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง บางราย หน้ากาก 1 ชิ้น ใช้ร่วม 4-5 วัน ขณะโควิดกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้การควบคุมเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้ว่าหน่วยงานในแต่ละท้องที่จะเข้ามาตรวจเชิงรุก คัดกรองผู้ป่วยออกไป และสุดท้ายจะกลับมาระบาดซ้ำวนกันไป 

อย่างไรก็ตาม แม้มีความเข้าใจดี ในเหตุผล การออกคำสั่งปิดแคมป์ หยุดก่อสร้าง 1 เดือนของรัฐบาล และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ผู้ประกอบการต่างๆ เริ่มมีความกังวลว่า หากสถานการณ์ไม่คลี่คลาย และคำสั่งดังกล่าวถูกประกาศใช้ยืดเยื้อออกไป เพราะยังคุมสถานการณ์ไม่ได้นั้น จะส่งผลเสียหายต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์อย่างมหาศาล เนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี เป็นไทม์ไลน์ การตรวจรับห้อง และโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าคอนโดมิเนียมหลายโครงการที่กำลังจะแล้วเสร็จ 

" หากแม้แต่การเข้าไปให้ช่างตรวจเก็บงานเล็กๆน้อยๆ ยังไม่สามารถดำเนินการได้นั้น จะส่งผลต่อแผนการเงิน และสภาพคล่องของหลายบริษัท โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีภาระด้านดอกเบี้ยธนาคารต้องจ่ายออก ท่ามกลางต้นทุนการก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นอย่างมากในขณะนี้ ทั้ง ทองแดง เหล็กเส้น อะลูมิเนียม เป็นภาระที่ต้องแบกรับ และความเสียหายที่ประเมินไม่ได้ " 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่าง เข้าหารือกับกรมอนามัย เพื่อศึกษา - วางมาตรการในส่วนของเอกชน สำหรับการดูแลแคมป์ต่างๆ กรณีได้กลับมาเปิดอีกครั้ง เพื่อให้รัฐมั่นใจ  และผ่อนปรนมาตรการบางส่วนให้  เช่น ให้สามารถทำการก่อสร้าง ตรวจเก็บงานได้ โดยจะเป็นแนวทางควบคู่กับมาตรการควบคุมโรคแบบ “Bubble and Seal” ของรัฐ แต่ก็มีความกังวล หากผู้ติดเชื้อยังสูงเกิน 5 พันรายต่อวัน อาจมีความเสี่ยง ไม่ได้รับการผ่อนปรน 

"อยากถามว่า การสร้างโรงพยาบาลสนามของรัฐ เป็นการก่อสร้าง ใช้ผู้รับเหมาหรือไม่ แต่ทำไมสามารถดำเนินการได้ ธุรกิจอสังหาฯ ไม่เหมือนร้านอาหาร ที่ถูกสั่งเปิดๆ ปิดๆ เจ๊งก็เซ้งต่อ แต่เรา หากหมดลมหายใจ คอนโดฯไม่มีเงินสร้างต่อ ไม่รู้จะไปอย่างไร แนวราบก็เช่นกัน หยุดก่อสร้าง ส่งมอบให้ลูกค้าล่าช้าไป 3 เดือน เกิดปัญหาฟ้องร้อง ขอเงินคืน จะทำอย่างไร ธุรกิจนี้ลงทุนไปก่อน เก็บที่หลัง เงินทุนไม่คืน กอดคอกันล้มทั้งอุตสาหกรรมแน่ " 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ขณะนางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์  นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องช็อก ที่ธุรกิจอสังหาฯ ถูกฟ้าผ่า ด้วยคำสั่งปิดการก่อสร้าง ขณะนี้ผู้ประกอบการทุกรายยังคิดไม่ตก ว่าจะปรับตัวกับวิกฤติครั้งนี้อย่างไร  และผลกระทบคงมหาศาล เพราะการหยุดก่อสร้าง ไม่ว่าจะ 15 วัน , 30 วัน หรือ มากกว่านั้น เกิดความเสียหายไปทั้งระบบ เนื่องจากหากประเมิน ธุรกิจอสังหาฯทั้งระบบ ต่อปี จะมีเม็ดเงินเฉลี่ย อยู่ที่ราว 9 แสนล้านบาท หากพิจารณาเป็นรายเดือน 1 เดือน ที่หยุดไป จะมีมูลค่าที่สูญเสียไปราว 7-8 หมื่นล้านบาท  ผลพ่วงเกิดขึ้นตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ ไปยันปลายน้ำ  โรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง - ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มากมาย 

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาครั้งนี้นั้น ในเมื่อรัฐ มุ่งมาที่แรงงานก่อสร้าง กล่าวโทษ ว่า เรา เป็นต้นเหตุของการการระบาด จึงข้อเรียกร้องรัฐดังนี้  

1. ขอให้เข้ามาตรวจคัดกรอง เพื่อแยกผู้ป่วยออกไปอย่างเร่งด่วน

2.ขอเรียกร้อง ให้จัดสรรวัคซีนมาที่กลุ่มแรงงานดังกล่าวเป็นกลุ่มแรก  คู่ขนานกับการตรวจเชื้อ ถือเป็นความยุติธรรม ที่ต้องดับไฟที่ต้นเหตุ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาภายหน้าต่อไป

ส่วนผู้ประกอบจะปรับตัวอย่างไร ในระยะสั้น เราไม่มีทางแก้ไข โครงการที่กำลังก่อสร้าง ได้รับผลกระทบแน่ๆ  การสำรองเรื่องสภาพคล่อง เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก ต้องมีการชำระหนี้ ชำระดอกเบี้ย และเริ่มมีความกังวลกันแล้ว เพราะขณะนี้ กำลังถูกจับตามองจากสถาบันการเงิน ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่เสี่ยง มีความอ่อนแอ 

" ธุรกิจอาคารชุด ไม่ใช่ การจับเสือมือเปล่า เราต้องซื้อที่ดิน ขออีไอเอ เขียนแบบ ใช้เวลานาน บางโครงการ ตึกสูงใช้เวลาก่อสร้างร่วม 20-30 เดือน ลงทุนมหาศาล จมไประหว่างก่อสร้าง  ซึ่งหากรัฐ หยุดการระบาดไม่ได้ และสั่งปิดแคมป์ไม่มีกำหนด ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง ล้มหายตายจากไปก่อนแน่ " 

" เราจ่ายภาษีในรูปแบบต่างๆ นับแสนล้านบาท จากมูลค่าอุตสาหกรรม 8-9 แสนล้านบาทในแต่ละปี หากรับฟังตรงนี้ เราขอกลับมาเป็นในรูปแบบวัคซีน เร่งเข้ามาฉีดให้เราเป็นกลุ่มแรก จากเหตุที่ถูกชี้หน้าว่าเป็นต้นเหตุ "
 

ขณะ นายวสันต์  เคียงศิริ  นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบการทุกคน ให้ความสำคัญในการเรื่องการควบคุม และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่  แต่จากนโยบายที่ออกมา หากสอบถามผู้ใกล้ชิดอย่างเรา คือ การปิดตายแบบเบ็ดเสร็จ ทุกระดับ ทุกขนาดของไซส์ก่อสร้าง นั่นกลายเป็นความเสียหายเยอะมาก ถ้ามีโอกาสได้เสนอแนะ อยากให้ปรับที่ต้นเหตุเป็นหลัก  เพราะนอกจากความเสียหาย การชดเชยรายได้แรงงานแล้ว ยังมีค่าเสียหายอื่นๆ ที่รัฐมองไม่เห็น เช่น ค่าเช่าอุปกรณ์ก่อสร้าง เงินเดือนระดับ วิศวกร โฟร์แมน เป็นต้น 

" ต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่ม 1.2 หมื่นล้านแน่ๆ ใน 1 เดือน ถ้าปิดต่อเนื่อง หยุดไปหลายเดือน เฉลี่ยคงสูงกว่านี้  ขณะนี้สร้างบ้านไม่ได้  ส่วนที่จะตรวจรับบ้าน ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะมาตรการที่ออกมาคลุมหมดทุกเรื่อง  เรามองระยะสั้น ผลกระทบเยอะมาก และอยากให้ผ่อนปรน ในแคมป์ที่ไม่มีการติดเชื้อ และสำหรับแคมป์ที่อยู่ในไซส์ก่อสร้าง ให้ทำงานต่อได้ โดยไม่ต้องเยียวยา และกระทบภาษีประชาชน ความเสียหายก็จะลดลง " 

ทั้งนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าตลาดคิดเป็นสัดส่วน 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) (ปี 2563) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากกระตุ้นให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบจำนวนมาก เกิดการจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งยังเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่น อาทิ ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์/ การตกแต่ง และสถาบันการเงิน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง