บิ๊กแสนสิริ ลั่น! รอไม่ได้ ต้องเลิกLTV-ลดดอกเบี้ย พยุงอสังหาฯ

21 ม.ค. 2564 | 12:22 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2564 | 12:43 น.
2.3 k

บิ๊กแสนสิริ ห่วงปัจจัยโควิด กระทบเศรษฐกิจลากยาว มองแก้ยากกว่าวิกฤติปี 40 เอสเอ็มอีกระอัก ขณะเปรียบอสังหาฯ เหมือนถูกอาวุธสงครามลูกใหญ่กระหน่ำ วอนรัฐ พิจารณา เลิกใช้มาตรการแอลทีวี กดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำอีก เพื่อเพิ่มแรงซื้อ พยุงตลาด

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่าง การแถลงข่าว เปิดแผนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ว่า การทำธุรกิจในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นไปตามความยากลำบากยิ่ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยลบ ที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรง เปรียบเป็นอภิมหาวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการในทุกธุรกิจ ต้องปรับตัวในทุกแง่ แม้การทำกิจกรรมทางสังคม วิถีชีวิต ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง 

อย่างไรก็ตาม ภาพความกังวลใหญ่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และทั่วโลกตกต่ำ จากจำนวนผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่นับรวมคนได้รับผลกระทบอีกมหาศาล ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งถูกยกย่องเป็นสวรรค์แห่งการท่องเที่ยวของไทย กลับมียอดนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว-บริการ เกิดภาวะตกงาน ว่างงาน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

ส่วนเศรษฐกิจไทย ติดลบ 6.6% ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบจะยาวนานกว่า แก้ยากกว่า เนื่องจากมีผลพ่วงวงกว้างต่ออุตสาหกรรมหลัก เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว ขณะภาคครัวเรือน กำลังเผชิญกับ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 

สำหรับมาตรการการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมา ยอมรับว่า มีหลายนโยบายที่ตอบสนองได้ดี แต่หลายมาตรการยังมีช่องโหว่ เช่น การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก (เอสเอ็มอี) ผ่านการออกซอฟน์โลน 5 แสนล้าน มองเป็นไอเดียที่ดี แต่พบมีการเข้าถึงเพียง 1ใน 3 เท่านั้น จึงต้องการให้รัฐบาลวางแนวทางผลักดันเพิ่มเติม เนื่องจากเอสเอ็มอี ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญ ในการผลักดันเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ด้านอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์นั้น ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องอาศับกำลังซื้อของคนเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน กำลังน่าเป็นห่วง เนื่องจาก กำลังซื้อหดตัว จากจำนวนคนตกงาน และความไม่นอนของรายได้ผู้ซื้อ ไม่นับปัญหาเก่า คือ เงื่อนไขในการเข้าถึงสินเชื่อ อย่างมาตรการ แอลทีวี ซึ่งมองว่า ถึงเวลาที่รัฐบาล หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ต้องพิจารณายกเลิกใช้ เนื่องจากเหตุผลเพื่อต้องการกีดกันนักเก็งกำไรนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้แล้ว  

"ด้วยภาวะตลาดอสังหาฯขณะนี้ ไม่สามารถเก็งกำไรได้อีกแล้ว เพราะคนแทบไม่มีจะกินจะใช้ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องยกเลิกใช้แอลทีวีเด็ดขาด  ถ้าปลดล็อกให้เดินได้ ดีมานด์มา ก็จะพากันรอดทั้งหมด "

นายเศรษฐา ยังกล่าวว่า ปัจจัยโควิด เปรียบเป็น อาวุธสงครามที่กระหน่ำใส่คนไทยทุกระดับ อสังหาฯเอง เปรียบเหมือนโดนลูกใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม บ้าน ซึ่งนับเป็นปัจจัยสี่ ย่อมยังมีความต้องการ เพียงรอลูกค้ากำลังรอจังหวะที่เหมาะสม หรือ ปัจจัยบวกหนุน เช่น อัตราดอกเบี้่ยที่ต่ำลงอีก เพื่อช่วยเพิ่มแรงซื้อ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณในการดำเนินการ รวมถึงอีกหลายเงื่อนไขที่สามารถปลดล็อกได้ทันที เช่น การขยายสัญญาเช่าในการกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็น 90 ปี อสังหาฯปีนี้จะอยู่ได้ ต้องมีมาตรการออกมากระตุ้น 

“ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ มีการเติบโตในทิศทางเดียวกับ GDP ของประเทศ โดยมีตัวผลักดันที่สำคัญ คือ กำลังซื้อของประชาชน ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งยังมีเรื่องโควิดจึงยังมีความน่าเป็นห่วง เพราะถ้าไม่มีการซื้อขายบ้าน ธุรกรรมหลายๆ อย่างก็จะหยุดชะงักไปด้วย ทั้งการซื้อวัสดุก่อสร้าง สี อิฐ หิน ปูน ทราย เฟอนิเจอร์ เครื่องครัว หลอดไฟ สุขภัณฑ์ ฯลฯ ก็จะโดนกระทบทั้งหมด อสังหาริมทรัพย์ถือว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ให้ multiplier effect สูงสุด ทางรัฐจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ โดยการใช้มาตรการกระตุ้นในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน หักลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยค่าใช้จ่ายจากการผ่อนบ้านในอัตราที่สูงขึ้น ขยายระยะเวลาการเช่าระยะยาวจาก 30 ปี เป็น 99 ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาอยู่ มาท่องเที่ยว ซึ่งจะนำมาซึ่งการใช้จ่าย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในวงกว้าง รวมถึงอยากให้สนับสนุนการเพิ่มกำลังซื้อของผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัย โดยให้สถาบันการเงินของรัฐ จัดสรรเงินจำนวนหนึ่งในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก เพื่อให้ผู้ที่ต้องการมีบ้านหลังแรกเข้าถึงได้” นายเศรษฐา กล่าว  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

LPN Wisdom หวั่น! รัฐคุมโควิดไม่ได้ อสังหาฯ ติดลบซ้ำ

เปิด 3 ความเสี่ยง ลงทุน คอนโด ปล่อยเช่า

บริษัทอสังหาฯเยียวยา อยู่ฟรี -ดอกเบี้ยฟรี -บ้านคอนโดฯลดราคา