ปั้นเมืองใหม่ –ย้ายสถานีไฮสปีด นักเก็งกำไรป่วน!

22 ธ.ค. 2563 | 04:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2563 | 13:21 น.
12.6 k

ชาวบ้านอีอีซีกระอัก- นักเก็งกำไร–ดีเวลอปเปอร์ป่วน สกพอ.พลิกแผน ใช้ที่ดินส.ป.ก. ตั้งเมืองใหม่ 7 หมื่นไร่ ชี้ ต้นทุนต่ำ รวมแปลงง่าย จ่อดึงเอกชนรายใหญ่ร่วมทุนพีพีพี เผยย้ายสถานีไฮสปีด ออกนอกเมือง ดีกว่าแออัดที่พัทยา

 

 

ราคาที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีถูกปั่นสูงจนชนเพดานส่งผลให้แผนจัดตั้งเมืองใหม่ของรัฐบาลต้องพุ่งเป้ามองหาที่ดินรัฐอย่างในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ที่ส.ป.ก.) ขนาดพื้นที่7หมื่นไร่ ครอบคลุม 3 ตำบล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย 1.ตำบลโป่ง2.ตำบลห้วยใหญ่ และ 3.ตำบลเขาไม้แก้ว สภาพส่วนใหญ่เป็นไร่มันสำปะหลัง, ที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งสะท้อนความต้องการต้นทุนตํ่า สะดวกรวมแปลง แต่ทั้งนี้อาจกระทบต่อที่ดินทำกินถิ่นอยู่อาศัยประชาชน

 

ชาวบ้านกระอัก

แม้การใช้ที่ดินรัฐจะช่วยประหยัดต้นทุนแต่มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเพราะที่ผ่านมา ต่างได้ยินกระแสข่าว มาโดยตลาดว่า 3ตำบลถูกล็อกไว้เป็นที่ตั้งของเมืองใหม่ขณะอีกกระแส ชาวบ้านเข้าใจว่าจะเป็นโซนที่ตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมส่วนต่อขยายการใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่ ผังเมืองกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียวเกษตรกรรม และเขตป่าไม้ ขณะแหล่งข่าวจากเทศบาลตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรียืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าว มีสภาพเป็นทั้งส.ป.ก. และเขตป่าไม้ อีกทั้งบางส่วนเป็นชุมชนซึ่งมีหลักฐานการครอบครองเป็นโฉนด หากมีการนำพื้นที่บางส่วนไป พัฒนาเมืองใหม่มองว่าชาวบ้าน มากกว่า 100-1,000 ราย อาจไร้ที่ดินทำกิน

 

รัฐดึงบิ๊กทุนร่วมวง

ขณะนักลงทุนในจังหวัดชลบุรี ประเมิน หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นนักลงทุนกรณีเมืองใหม่ประเมินว่า รัฐบาลมีนายทุนใหญ่อยู่ในใจแล้วเพราะลำพังหากพึ่งพานักธุรกิจในพื้นที่ คงไม่มีสายป่านที่ดีพอขณะเดียวกัน การ พัฒนาเมืองใหม่ขนาดพื้นที่หลักพันหลักหมื่นไร่ ต้องใช้นักลงทุนรายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลได้ อีกทั้งต้องอ้างอิงกับการเดินทางรถไฟความเร็วสูงจึงจะคุมทุน ซึ่งสอดกับการย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูง จากพัทยา มายัง พื้นที่บ้านซากแง้ว ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุ อย่างไรก็ตาม ในมุมของเอกชน มองว่าหากผู้รับสัมปทาน รถไฟความเร็วสูง ต้องการ ย้าย สถานี จุดจอดรถ จากพัทยา ออกนอกเมืองไปยัง พื้นที่ที่ไม่หนาแน่นราคาที่ดิน ไม่สูง และสร้างเมืองรองรับการเดินทางไฮสปีด เหมือนต่างประเทศ เรื่องที่ถูกต้อง หาก เก็บค่าโดยสารเดินรถเพียงอย่างเดียวไม่คุ่มทุน และต้องมีทรัพย์บนดิน เพื่อต่อยอดแต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสกพอ. จะเลือกรูปแบบใดแต่เชื่อว่าน่าจะเป็นรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนรัฐหรือพีพีพี

 

เก็งกำไรตายสนิท

ในมุมกลับกันการย้ายสถานีไฮสปีดจากพัทยาต่างส่งผลกระทบ นายหน้าเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งยอมรับว่ามีที่ดินติดอยู่ในมือไม่สามารถขายออกจำนวนมากในพัทยา ศรีราชาตลอดจนสถานีฉะเชิงเทรา ขณะราคาที่ดินขยับสูงหลายเท่า จากราคาเพียง 2-3 ล้านบาทขยับเป็น 8-10ล้านบาทที่รอบสถานีศรีราชา เช่นเดียวกับพัทยาที่ ราคาที่ดินปรับสุงโดยเฉพาะติดชายทะเล ราคา ทะลุไป2แสนบาทต่อตารางวา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องชัดเจน หากยังคง ปล่อยข่าวในลักษณะอย่างนี้ในเวลาต่อมามีนายทุนนักเก็งกำไรวิ่งตามไปกว้านซื้อที่ดินอีก จะทำให้ การลงทุนในภาพรวมได้รับผลกระทบจากราคาที่ดิน ขยับยกแผงจนไม่สามารถทำอะไรได้

 ปั้นเมืองใหม่ –ย้ายสถานีไฮสปีด นักเก็งกำไรป่วน!

 

 

 

เมินปรับแบบสถานีพัทยา

แหล่งข่าวจากสกพอ.เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ว่า กรณีเอกชน ขอปรับเปลี่ยนพื้นที่ก่อสร้างสถานีจอดรถไฟฟ้าความเร็วสูงพัทยาไปยังพื้นที่บ้านชากแง้ว ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี นอกจากกระทบ การลงทุนขึ้นโครงการใกล้สถานีแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อแผนการก่อสร้างสถานีจอดในเมืองพัทยา และอาจกระทบต่อระบบการขนส่งเดิมที่วางไว้ซึ่งจะไม่เชื่อมโยงกันนั้น อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปถึงการปรับรูปแบบสถานีพัทยา เนื่องจากบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มซีพี) ยังไม่ได้ตอบกลับรฟท. ว่าจะย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูงไปที่สถานีชลบุรี ฉะเชิงเทรา พัทยา หรือไม่ ทำให้รฟท.ยังยึดตามเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ซึ่งขณะนี้เลยกรอบระยะเวลาที่รฟท.ให้เอกชนส่งข้อมูลตอบกลับในการปรับย้ายสถานีดังกล่าวแล้วช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้รฟท.จำเป็นต้องดำเนินการตามรูปแบบสัญญาเดิม หลังจากนั้นคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่เฟสแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้เอกชนเข้าดำเนินงานตามสัญญา ภายในเดือนตุลาคม 2564

ส่วนในอนาคตจะมีการปรับรูปแบบสถานีเพิ่มเติมหรือไม่ขึ้นอยู่กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มซีพี) เป็นผู้เสนอ เพราะรฟท.มีหน้าที่พิจารณาสิ่งที่เอกชนเสนอมาว่าเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันรฟท.ก็เดินหน้าตามสัญญาเดิมที่กำหนดไว้

              

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะเดียว กันไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้ตาม พ.ร.ฎ.เวนคืนมีผลบังคับใช้ ซึ่งมีพื้นที่เวนคืน 850 ไร่ 900 แปลง ค่าเวนคืนตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ที่ 3,570 ล้านบาท โดยรฟท.จะให้ต้องรับผิดชอบค่าก่อสร้าง จำนวน 7,210 ล้านบาท บริเวณพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการอื่นไปก่อน แบ่งเป็นอุโมงค์แอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยาย และสายสีแดง Missing Link จำนวน 3,200 ล้านบาท และโครงสร้างงานโยธาช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง จำนวน 4,009 ล้านบาท โดยการเวนคืนจะดำเนินการเฉพาะแนวเส้นทาง เว้นช่วงสถานีไว้ก่อนเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ทัน ตามกรอบเวลากำหนดไม่เกินเดือนตุลาคม 2564 เพื่อออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (NTP)