ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สายสีม่วง สุดท้ายไม่พ้นมือBEM

29 พ.ย. 2559 | 08:00 น.
แม้ว่าคราวประชุมบอร์ดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธานเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมามีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางต่อแนวคิดของนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม.ที่เสนอให้เจรจาตรงกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BEM ผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงในปัจจุบันให้เป็นผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีและภายในตัวรถโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ แทนการเปิดประมูล โดยอ้างขั้นตอนการดำเนินงานที่รวดเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดคณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้มีการเปิดประมูล โดยอ้างเหตุมีความโปร่งใสกว่าเลือกวิธีเจรจาบีอีเอ็มตามที่ผู้ว่าการ รฟม.ตั้งแท่นเสนอ

หลังการประชุมบอร์ดรฟม.นายพีระยุทธ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นการทั่วไปด้วยรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน หรือ พีพีพี ตามมติคณะกรรมการ รฟม. นั้น เกรงว่าหากเจรจากับบีอีเอ็มโดยตรง อาจจะทำให้มีปัญหาด้านกฎหมายและระยะเวลาระหว่างการเปิดประมูลกับการเจรจา ต่างกันเพียง 6 ถึง 8 เดือน ซึ่งน่าจะเร่งกระบวนการเปิดประมูล โดยให้พิจารณาแนวทางที่สามารถเร่งรัดขั้นตอนได้

ลุ้นระดับชั้นการร่วมลงทุน

จากนี้ไป รฟม. คงต้องศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะนำมาใช้ในโครงการมีมูลค่าเท่าใด เพื่อประเมินว่าจะเข้าข่ายร่วมลงทุนระดับไหน โดย ขนาดเล็กมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ขนาดกลาง 5,000 ล้านบาท หรือขนาดใหญ่ เกิน 5,000 ล้านบาท ส่วนรูปแบบนั้นจะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ปี 2556 ซึ่งมีเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)ในการพิจารณาขนาดโครงการและระยะเวลาการดำเนินงาน เพราะหากขนาดเล็กไม่ถึง 5,000 ล้านบาทสามารถเสนอระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุมัติได้เลยโดยกรณีดังกล่าวคาดว่าจะเสนอบอร์ด รฟม.ได้อีกครั้งประมาณต้นปี 2560 นี้

R37321302 ประมาณค่าการลงทุนกว่า 520 ล้านบาท

ตามผลศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้นได้กำหนดแผนรายได้ของ รฟม.ไว้ 2 ส่วน คือ 1. รายได้จากค่าโดยสาร และ 2. รายได้จากเชิงพาณิชย์ โดยที่ปรึกษาได้ประมาณการลงทุนในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ว่ามีมูลค่าประมาณ 520 ล้านบาท กำหนดระยะสัญญา 30 ปีคาดว่าจะเติบโตประมาณ 5% ต่อปีทั้งจากค่าจัดทำป้ายกล่องไฟบริเวณสถานี 81.20 ล้านบาท อัตราเช่า 2,000 บาท-5 หมื่นบาท/หน่วย/ป้าย/สถานี/เดือน ค่างานระบบโฆษณา 40 ล้านบาท ค่างานติดตั้งร้านค้าปลีก 11.44 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและปรับปรุงพื้นที่ 11.12 ล้านบาท ค่างานสื่อโฆษณาประเภทจอ LED 24.30 ล้านบาท อัตราเช่าประมาณ 8 หมื่นบาท ค่างานสื่อโฆษณาประเภทจอภายในรถโดยสาร347 ล้านบาท อัตราเช่าประมาณ 1 แสนบาทและค่างานโฆษณาในตัวรถไฟ 5.04 ล้านบาท อัตราเช่าประมาณ 1.2 แสนบาท

โดยในการศึกษาได้แบ่งสถานีรถไฟฟ้า 16 สถานี เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ A : กลุ่มที่มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์สูง จำนวน 3 สถานี คือ สถานีตลาดบางใหญ่ สถานีแยกนนทบุรี 1 และสถานีเตาปูน อัตราเช่าประมาณ 1,200 บาท/ตร.ม./เดือน B: ปานกลาง จำนวน3 สถานี คือ คลองบางไผ่ บางพลู และกระทรวงสาธารณสุข อัตราเช่าประมาณ 1,100 บาท/ตร.ม./เดือน และ C: ต่ำ จำนวน 10 สถานีคือ สามแยกบางใหญ่ บางรักใหญ่ บางรักน้อยท่าอิฐ ไทรม้า สะพานพระนั่งเกล้า บางกระสอ ศูนย์ราชการนนทบุรี แยกติวานนท์ วงศ์สว่าง และบางซ่อน อัตราเช่า 1,000 บาท/ตร.ม./เดือน

ประเด็นที่น่าติดตามคือจำนวนผู้โดยสารและรายได้จากค่าโดยสารตามที่รฟม.ควบคุมดูแลยังต่ำกว่าเป้าหมายจากเป้าหมายคาดว่าจะมีผู้โดยสารกว่า 7.3 หมื่นคนต่อวัน แต่ตัวเลขจริงอยู่ที่กว่า 2 หมื่นคนต่อวันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของเจ้าสินค้าและบริการที่จะเช่าพื้นที่เพื่อจำหน่ายสินค้าหรือโฆษณาก็ตาม อย่างไรก็ตาม คงไม่มีเอกชนรายใด กระทั่ง BTS ที่จะเข้ามาประมูลแข่งกับกลุ่ม BEM ที่เป็นต่อในเรื่องการบริหารจัดการเดินรถสายสีม่วงอยู่แล้ว มีความสะดวกในการพัฒนาพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่อง หากเป็นเอกชนรายอื่นจะเกิดความไม่สะดวกในการใช้พื้นที่ แต่กรรมการบอร์ดหลายคนกลับเห็นว่าควรหลีกเลี่ยงประเด็นที่อาจถูกมองว่าเอื้อเอกชนหวังว่าต้นปี 2560 รฟม.คงมีคำตอบให้อย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,213 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2559