“อนุสรณ์”ย้ำเศรษฐกิจไทยยังไม่มีวิกฤติแบบศรีลังกา-สปป.ลาวใน2-3ปีข้างหน้า

17 ก.ค. 2565 | 13:04 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2565 | 20:49 น.

บาทอ่อนค่าทดสอบระดับ 37 บาท ส่งออกไทยมีรายได้ในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 9-12% “อนุสรณ์”ย้ำเศรษฐกิจไทยยังไม่มีซ้ำรอยศรีลังกา-สปป.ลาวใน2-3ปีข้างหน้า แต่ปัญหาฐานะการคลังเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง  กล่าวถึง ความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจไทยที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแบบศรีลังกาหรือสปป.ลาว

 

โดยระบุว่า จะยังไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจแบบศรีลังกาหรือสปป.ลาว อย่างน้อยในระยะสองสามปีข้างหน้านี้ แต่มีความเสี่ยงเรื่องฐานะทางการคลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

โดยเฉพาะหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในประเทศจะทำให้ภาระต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคเอกชน หนี้ครัวเรือน ปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในศรีลังกาลาวและประเทศอื่นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)

 

ขณะนี้อาจส่งผลต่อเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรในตลาดการเงินไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่บ้าง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

 

บางประเทศกระทบน้อยมากหรือไม่กระทบเลย การไหลออกของเงินทุนเก็งกำไรระยะสั้นไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจของชาวไทยส่วนใหญ่แต่อย่างใด

 

กรณีของไทยนั้นมีผลกระทบในระดับปานกลาง สิ่งนี้ได้สะท้อนมายังการปรับลดลงต่อเนื่องของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยรวมทั้งเงินบาทอ่อนลง ส่วนตัวประเมินว่า ใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้วในรอบนี้ การปรับหรือไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยภายในมีผลต่อการไหลออกของเงินทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และ

 

ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลเกินเหตุ ผลกระทบของวิกฤติในศรีลังกาและลาว ทำให้ปริมาณการค้าต่อกันลดลงโดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปศรีลังกาลดลง

 

การเจรจาเปิดเสรีทางการค้าแบบทวิภาคีกับศรีลังกาต้องชะงักไป การค้าชายแดนไทยลาวลดลง วิกฤติดังกล่าวทำให้เกิดโอกาสของกลุ่มทุนไทยในการขยายการลงทุนไปศรีลังกาและลาวเช่นเดียวกัน แต่ภาพรวมส่งออกของไทยยังไปได้ดี ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5-6% ยิ่งเงินบาทอ่อนค่า ยิ่งส่งผลดีต่อภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 

 

เศรษฐกิจไทยนั้นยังมีความเสี่ยงต่ำแม้นไทยจะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง 2 ปีต่อเนื่องก็ตาม เมื่อไทยเริ่มเปิดประเทศ รายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติจะทำให้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงและ

 

น่าจะกลายมาเป็นบวกได้ในช่วงปลายปีและราคาน้ำมันผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ราคาน่าจะทะยอยปรับตัวลดลง การอ่อนค่าของเงินบาท จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง

 

แต่การอ่อนค่า จากระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ มาสู่ระดับ 36-37 ดอลลาร์ทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

 

ยอดปริมาณสินค้าและบริการส่งออกที่ราคาขายล่วงหน้าไปก่อนในช่วงเดือน เม.ย.- เดือน พ.ค. ที่อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อรับรายได้ดอลลาร์มาเวลานี้อยู่ที่ 36-37 มีรายได้ในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 9-12% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิด Immediate Positive Income Effect ภายในประเทศ ช่วยกระตุ้นรายได้ กระตุ้นการจ้างงาน การบริโภคและการลงทุน

 

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯสะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเข้าใกล้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทางเทคนิค (Technical Recession) อาจช่วยลดแรงกดดันเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าได้ระดับหนึ่ง

 

ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยจะมีมากกว่าหนี้ต่างประเทศถึง 1.3 เท่าโดยประมาณและหนี้ต่างประเทศปี พ.ศ. 2564-2565 ก็อยู่ที่ประมาณ 38-39% ของจีดีพี ประมาณ 1.9 แสนล้านดอลลาร์ หนี้ต่างประเทศเป็นหนี้ระยะสั้น ประมาณ 36-37%

 

ขณะนี้ ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิอยู่ที่ 2.18 แสนล้านดอลลาร์ ณ. 8 กรกฎาคม 65 ลดลง 3 พันล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า และ ต่ำกว่าระดับ 2.2 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี การลดลงของทุนสำรองส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเกินไป 

หากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(กนง.) แบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนสิงหาคม ธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับดอกเบี้ยตาม จะทำให้ภาระการผ่อนชำระต่อเดือนของลูกหนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 5-5.5% เป็นอย่างน้อย

 

ขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์และกลุ่ม non-bank ส่วนใหญ่ได้ปล่อยให้ดอกเบี้ยลอยตัวแล้ว หาก กนง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% กรณีวงเงินสินเชื่อของลูกหนี้อยู่ที่ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเดือนละ 4,500 ต่อเดือนจะต้องผ่อนชำระเพิ่มเป็น 4,750 บาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5-5.5% สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีนี้อยู่ที่ 86-88% ลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อยจากจีดีพีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น อาจกลับมาเพิ่มขึ้นทะลุระดับ 90% อีกครั้งหนึ่งในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

ขณะนี้อัตราการผ่อนชำระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้อยู่ที่ 34-35% ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%-0.75% ในช่วงที่เหลือของปี จะทำให้อัตราการผ่อนชำระเทียบกับรายได้แตะระดับ 40% ได้

 

ฉะนั้น ผู้บริโภคจะมีขีดจำกัดในการบริโภคเพิ่มหากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น และ ภาคธุรกิจอาจชะลอการลงทุนได้ ธนาคารบางแห่งคงใช้วิธีการยืดการผ่อนชำระยาวขึ้นแทนที่จะให้ลูกค้าผ่อนชำระต่องวดสูงขึ้น ยอดการชำระต่องวดก็จะมีการนำไปหักดอกเบี้ยมากขึ้น หักเงินต้นลดลง หากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 0.75% ในปีนี้ ธนาคารพาณิชย์น่าจะให้ลูกค้าเดิมผ่อนชำระต่องวดเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน 

 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายกัญชาเสรีและปล่อยให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ รวมทั้ง ผสมในอาหารและเครื่องดื่ม

 

หากไม่กำกับดูแลให้ดี อาจกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงได้ และอาจสร้างภาระหนี้ให้กับประเทศในอนาคตได้ เพราะจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาพยาบาลและแก้ไขปัญหาสังคมอีกจำนวนมาก 

 

ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และพัฒนาการของเยาวชนเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องเอาใจใส่ รวมทั้งอาจสร้างความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยวได้ ประเทศส่วนใหญ่ยังถือว่า “กัญชา” เป็นสารเสพติดและมีโทษอาญารุนแรง

 

หากไม่กำกับควบคุมให้ดีจะกระทบต่อนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีกฎหมายเข้มงวด และ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกกว่า คือ การปล่อยให้เกิดการมั่วสุมสูบกัญชาจนมึนเมาทำลายสุขภาพ ทำลายอนาคตเยาวชนและเป็นต้นทางของการเกิดอาชญากรรมต่างๆได้

 

จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาล ให้มีการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น และรัฐบาลต้องควบคุมการใช้กัญชาเพื่อเป็นสารเสพติดก่อนที่จะมีการระบาดเหมือน “ยาบ้า” หรือ “ยาเสพติด” ที่แพร่ระบาดในสังคมไทยอยู่แล้ว

 

จากข้อมูลของ ดร. นพ. บัณฑิต ศรไพศาล สถาบัน Centre for Addiction and Mental Health ประเทศแคนาดา โดยอ้างงานวิจัยของ Feingold พบว่า กัญชาก่อให้เกิดการเสพติดได้เร็วและมากกว่าที่เคยสรุปกันไว้เดิม

 

ขณะที่ข้อมูลของนายแพทย์ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อ้างงานวิจัยในต่างประเทศบ่งชี้ว่า ผู้ใช้กัญชาจะติดง่ายและเร็วกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า เร็วกว่าสุรา 2.6 เท่า คาดหลังเปิดเสรีและการเสพกัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย จำนวนผู้เสพติดอาจพุ่งถึง 3 เท่า หากจำนวนผู้เสพติดกัญชาเพิ่มขึ้นมาก จะส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพและสังคม และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน กระทบต่อกำลังแรงงาน ทำให้แรงงานอ่อนแอลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และแน่นอนเมื่อเกิดการเสพติดจำนวนมากย่อมทำให้เกิดปัญหาสังคมและอาชญากรรมเพิ่มขึ้นได้ การออกกฎหมายเพื่อกำกับควบคุมการใช้กัญชาจึงต้องมองทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพและสังคมไปพร้อมกัน