“สรรเพชญ”จี้รัฐเร่งแก้หนี้ครัวเรือน เตือนไม่ควรแทรกแซงปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

02 พ.ย. 2567 | 15:01 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2567 | 15:16 น.

“สรรเพชญ”จี้รัฐเร่งแก้หนี้ครัวเรือน แนะเร่งปรับโครงสร้างนโยบายแก้หนี้อย่างเป็นรูปธรรม เตือนไม่ควรแทรกแซงการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย โดยชี้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายปี ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก 

โดยรายละเอียดเชิงลึกยังแสดงให้เห็นว่า หนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่อการบริโภค และสินเชื่อบัตรเครดิต โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยที่ต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยสูง ซึ่งทำให้สถานการณ์หนี้ของประชาชนฐานรากยากต่อการผ่อนชำระ และอาจกลายเป็นหนี้เสียได้ในอนาคต

นายสรรเพชญ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย ไม่อาจพึ่งพานโยบายการเงิน หรือ โครงการคลินิกแก้หนี้เพียงอย่างเดียว แม้คลินิกแก้หนี้จะมีบทบาทในการช่วยผู้มีปัญหาหนี้สินปรับโครงสร้างหนี้และลดภาระดอกเบี้ย แต่พบว่ามีข้อจำกัดหลายด้าน 

เช่น เงื่อนไขที่เข้มงวด ทำให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำ หรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่สามารถเข้าร่วมได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหนี้สินต่อครัวเรือนสูงกว่ารายได้ประจำหลายเท่าตัว ทำให้ภาระดอกเบี้ยสูง เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถปลดหนี้ได้เร็วอย่างที่คาดหวัง 

อีกทั้งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ยังมีความซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อหนี้มีหลายแหล่ง เช่น หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่น ๆ ที่ต้องผ่านกระบวนการเจรจากับเจ้าหนี้หลายฝ่าย ทำให้ใช้เวลานานกว่าในการหาข้อตกลง 

การปรับเงื่อนไขหนี้บางรายการอาจต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และส่งผลให้ประชาชนที่เข้าโครงการบางราย ยังไม่สามารถรับการช่วยเหลือได้ตามเป้าหมาย ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังคงเห็นผลไม่ชัดเจนในระดับมหภาค ประชาชนจำนวนมากยังคงมีภาระหนี้สะสมที่สูง เมื่อการใช้จ่ายเพื่อบริโภคลดลง เศรษฐกิจโดยรวมจึงอาจได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 

ในตอนท้าย นายสรรเพชญ แนะให้รัฐบาลเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดการปัญหาหนี้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือคลินิกแก้หนี้เพียงลำพัง โดยเสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเชิงรุก เช่น การควบคุมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบริโภคในตลาด ควบคู่กับการเพิ่มการเข้าถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน 

โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งปรับโครงสร้างนโยบายแก้หนี้ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ควรเน้นการเจรจาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน ควบคู่ไปกับการสร้างโครงสร้างระบบที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้เสีย ให้สามารถฟื้นฟูและกลับมามีสถานะการเงินที่เข้มแข็งได้ ซึ่งจะทำให้การลดภาระหนี้ในระดับครัวเรือนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงการสร้างระบบการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การสร้างสภาวะแวดล้อมให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องตามสถานการณ์ดอกเบี้ย 

นอกจากนี้ ยังได้เตือนถึงความเสี่ยงในการแทรกแซง ธปท. โดยการแต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดเป็นประธานบอร์ด และได้ขอให้รัฐบาลเคารพโครงสร้างการบริหารงานของ ธปท. และสนับสนุนให้มีการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในด้านการเงินการคลังมาดำรงตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจของ ธปท. จะเกิดขึ้นจากการพิจารณาที่อิสระและเป็นมืออาชีพ 

พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น หากความเป็นอิสระของ ธปท. ถูกบั่นทอนโดยอิทธิพลทางการเมืองที่อาจทำให้การตัดสินใจในเชิงนโยบายเบี่ยงเบนไปตามความต้องการของรัฐบาล ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว