คดีตากใบ : ถอดรหัสจำเลย 2 ชุด กับ 20 ปี บนความเสี่ยงหมดอายุความ

21 ต.ค. 2567 | 17:01 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2567 | 18:59 น.

รายงานพิเศษ : 20ปี “คดีตากใบ” ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน กับการฟ้องจำเลย 2 ชุด ที่คดีใกล้จะหมดอายุความ 25 ต.ค. 2567 หากจำเลยไม่มารายงานตัวต่อศาล

"คดีตากใบ" คดีใหญ่ที่ต้องย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว 25 ตุลาคม 2547 หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีประชาชนผู้ประท้วงกว่า 2,000 คนรวมตัว เรียกร้องให้ปล่อยตัวชายมุสลิมเชื้อสายมลายู 6 คน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าถูกทางการไทยควบคุมตัวโดยพลการ

บรรยากาศตึงเครียดและยืดเยื้อ จนทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริง ส่งผลให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตทันที 7 คน โดย 5 คนถูกยิงเสียชีวิต 

คดีตากใบ : ถอดรหัสจำเลย 2 ชุด กับ 20 ปี บนความเสี่ยงหมดอายุความ

หลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ขนย้ายชายมุสลิมเชื้อสายมลายูประมาณ 1,370 คน จากหน้า สภ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งห่างออกไป 150 กิโลเมตร 
 

การขนย้ายผู้ชุมนุมเจ้าหน้าที่บังคับให้นอนทับซ้อนกันในรถบรรทุกทหารเป็นชั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 78 คน จากการถูกกดทับหรือขาดอากาศหายใจระหว่างการเดินทาง ขณะที่ผู้รอดชีวิตหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัสและบางคนกลายเป็นผู้พิการถาวร

“ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ประณามการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและความประมาทในการขนส่งผู้ถูกควบคุมตัว พร้อมกับออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีตั้ง “คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ”กำหนด 11 ประเด็นเพื่อพิจารณา

คดีตากใบ : ถอดรหัสจำเลย 2 ชุด กับ 20 ปี บนความเสี่ยงหมดอายุความ

แม้ว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เสียหาย แต่เจ้าหน้าที่ที่ถูกระบุว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบตามความเห็นของคณะกรรมการยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนแม้แต่รายเดียว

ความล่าช้าของคดี

ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2567 เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่สำนวนคดีถูกดองไว้ โดยไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อญาติผู้เสียชีวิตพยายามฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสโดยตรง และส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุดให้เร่งรัดคดีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 จนทำให้ปัจจุบัน "คดีตากใบ" มีการฟ้องผู้ต้องหา 2 ชุด

 

คดีตากใบ : ถอดรหัสจำเลย 2 ชุด กับ 20 ปี บนความเสี่ยงหมดอายุความ

 

ผู้ต้องหาชุดแรก

เกิดจากประชาชนและญาติผู้เสียชีวิตยื่นฟ้องเองต่อศาลนราธิวาส ซึ่งศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ในข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนา พยายามฆ่า และควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ” โดยมีผู้ต้องหา 7 คน ประกอบด้วย

  1. พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยที่เพิ่งลาออก)
  2. พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผบ.บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5
  3. พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และเป็นอดีต สว. 
  4. พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้น ในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีต สว. 
  5. พ.ต.อ.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีต ผกก.สภ.ตากใบ ในขณะนั้น
  6. นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายวิชม ทองสงค์ ในเวลานั้น เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

คดีตากใบ : ถอดรหัสจำเลย 2 ชุด กับ 20 ปี บนความเสี่ยงหมดอายุความ
 

ผู้ต้องหาชุดที่สอง

เกิดจาก "อัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อ 12 กันยายน 2567 ข้อหา "เคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา" มีผู้ต้องหา 8 คน  

  1. พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5
  2. ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส 
  3. นายวิษณุ เลิศสงคราม 
  4. ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร
  5. นายปิติ ญาณแก้ว 
  6. พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ 
  7. พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ 
  8. ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ 

ซึ่ง พล.อ.เฉลิมชัย เป็นคนเดียวที่มีรายชื่อถูกสั่งฟ้องทั้งสองชุด และนอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติระดับล่าง 

คดีตากใบ : ถอดรหัสจำเลย 2 ชุด กับ 20 ปี บนความเสี่ยงหมดอายุความ

 

ความเสี่ยงต่อการหมดอายุความ

ผ่านไป 20 ปี "คดีตากใบ" กำลังจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หากไม่มีจำเลยอย่างน้อยหนึ่งคนมาปรากฏตัวต่อศาลเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งจะทำให้กระบวนการไต่สวนไม่สามารถเริ่มขึ้นได้ และคดีจะถูกยกฟ้องในที่สุด