ศาลนราธิวาสออกหมายจับ 6 จำเลยคดีตากใบ ขอสภาจับกุม พล.อ.พิศาล สส.เพื่อไทย

12 ก.ย. 2567 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2567 | 14:05 น.

ศาลนราธิวาสออกหมายจับ 6 จำเลย คดีตากใบ หลังไม่มารายงานตัว ทนายติดต่อไม่ได้ ส่วน “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” สส.เพื่อไทย ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ ศาลขออนุญาตสภา จับกุม และนัดใหม่ 15 ต.ค.นี้

วันนี้ (12 ก.ย. 67) ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส เวลา 11.00 น. ผู้พิพากษาได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดจำเลย 7 คน ในคดีตากใบมาสอบคำให้การ หลังจาก เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งรับฟ้องคดีอาญาตากใบ 

ในข้อหา ฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยมีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมขึ้นรถทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในลักษณะให้นอนซ้อนกันทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย จากการขาดอากาศหายใจ และ 7 ราย เสียชีวิต จากการสลายการชุมนุม

โดยศาลเห็นว่าคดีมีมูลตามที่โจทก์ยื่นพยานหลักฐาน และมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมและการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นจริง  

ศาลแถลงว่า ศาลได้สอบถามจากทนายความจำเลยที่ 8-9 ที่มาศาล ทราบว่า ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งฟ้อง จึงไม่ทราบว่าจะให้เป็นทนายต่อไปหรือไม่ และศาลได้ติดต่อไปได้คำตอบเช่นกัน ศาลจึงมีคำสั่งออกหมายจับ จำเลยที่ 3-6 และจำเลยที่ 8-9 ซึ่งประกอบด้วย
 

จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 ปัจจุบันอายุ 73 ปี 

จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ปัจจุบัน อายุ 73 ปี

จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ปัจจุบัน อายุ 77 ปี

จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปัจจุบัน อายุ 70 ปี

จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันอายุ 78 ปี

จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันอายุ 78 

ส่วน จำเลยที่ 1 คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันอายุ 74 ปี เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จึงได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และอยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลไม่สามารถออกหมายจับได้ และจับกุมไม่ได้ 

ศาลจึงจะมีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม จำเลยที่ 1 และมีหมายเรียก และมีหนังสือด่วนที่สุดให้จำเลยที่ 1 แจ้งว่า ศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้จำเลยที่ 1 แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า ซึ่งศาลนัดในวันที่ 15 ตุลาคม 2567

ส่วนจำเลยคนอื่นที่ถูกออกหมายจับ ให้ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และตำรวจศาล มีอำนาจจับกุมทันทีที่พบตัว ภายในอายุความ 25 ต.ค.2567