“แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันของ “ก้าวไกล”

28 ม.ค. 2567 | 10:00 น.

“แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันของ “ก้าวไกล” : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,961

KEY

POINTS

 

+“พิธา”รอดคดีถือหุ้นสื่อ เตรียมคัมแบ็กหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกครั้ง โดยมี ชัยธวัช ตุลาธน เป็นเลขาธิการพรรค

 

+คดี ม.112  ผู้ร้องขอศาลสั่งให้หยุดการกระทำ คดีนี้คงไม่ลามถึงยุบพรรคก้าวไกล

 

+ หาก “ก้าวไกล” ยังคงรักษาสถานะความเป็นพรรคได้ดีต่อไป การเลือกตั้งครั้งหน้า “แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” ก็คงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,961 ระหว่างวันที่ 28-30 ม.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย 

+++ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 “จบ” ไปอีก 1 คดีดังที่อยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งผลออกมา “เป็นคุณ” ต่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต่อไป (ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่ 19 ก.ค. 2566) หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ พิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่  จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

*** โดยมติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากออกมา 8 ต่อ 1 (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เสียงข้างน้อย) วินิจฉัยว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (4 เม.ย. 66) ผู้ร้อง ร้องว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการ หรือ มีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อมวลชนใดๆ ไอทีวีหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550, ไอทีวียังคงสถานะนิติบุคคลเพื่อดำเนินคดีพิพาทในศาลเท่านั้น, ไอทีวีไม่มีรายได้เกี่ยวกับสื่อและไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อ นายพิธา จึงมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. นายพิธา จึงไม่สิ้นสุด ส.ส.ลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)

*** ผลของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา ส่งผลให้ พิธา ได้กลับเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาต่อไป ขณะเดียวกัน ในส่วนของพรรคก้าวไกล ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างพรรคใหม่แน่นอน โดยในเดือน เม.ย. 2567 นี้ จะมีการประชุมใหญ่ของพรรค คาดว่า พิธา จะได้รับการเสนอชื่อให้กับมาเป็น “หัวหน้าพรรคก้าวไกล” ตามเดิม หลังจากลาออกไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 และได้ผลักดัน ชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน โดยเมื่อ พิธา ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็จะแต่งตั้งให้ ชัยธวัช กลับมาทำหน้าที่เลขาธิการพรรคอีกครั้งเหมือนเดิม 

พิธา เคยให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านรายการ "เนชั่นสุดสัปดาห์กับ 3 บก." ดำเนินรายการโดย สมชาย มีเสน วีระศักดิ์ พงษ์อักษร และ บากบั่น บุญเลิศ 3 บรรณาธิการบริหารเครือเนชั่น เผยแพร่ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 ก่อนหน้านี้ ว่า “หากศาลตัดสินออกมาเป็นคุณ จะทำหน้าที่ต่อในสภาฯ ส่วนจะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกครั้งหรือไม่ พิธา บอกว่า “แล้วแต่สมาชิกพรรคที่จะมีการประชุมใหญ่ช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้” 

                                “แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันของ “ก้าวไกล”

*** ผ่านไป 1 ด่านสำหรับ พิธา แต่ยังเหลือด่านสุดท้าย ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิพากษา ในวันที่ 31 ม.ค. 2567 นี้ เป็นคดีกล่าวหา พิธา และ พรรคก้าวไกล เสนอแก้ มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ...คดีนี้ผู้ร้อง ร้องต่อศาลฯ เพียงว่า “ขอให้หยุดการกระทำ” ซึ่งศาลก็คงพิจารณาไปตามคำร้อง ...คดีนี้คงไม่ลามถึง “ยุบพรรคก้าวไกล” แต่อย่างใด จึงไม่น่าส่งผลกระทบอะไรมากมายต่อพรรคก้าวไกล ในการที่จะเดินหน้าทางการเมืองต่อไป ...หากยังคงรักษาสถานะความเป็นพรรคได้ดีต่อไป การเลือกตั้งครั้งหน้า “แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” ก็คงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

*** ถูกต้องแล้ว “มีหนี้ก็ต้องจ่าย หากจ่ายล่าช้าดอกเบี้ย ก็มีแต่บานเอา บานเอา” ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 ที่มี วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเงินจำนวน  23,488,692,200 บาท ไปชำระต่อการรับมอบทรัพย์สินระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 และชำระค่างานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ตามโครงการดังกล่าว จากสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 16 ม.ค. 2567 ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว และเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน ณ วันที่ 16 ม.ค. 67 จำนวน 51,804.22 ล้านบาท 

โดยสภา กทม. มีมติเห็นชอบหลักการร่างข้อบัญญัติดังกล่าว เป็นเอกฉันท์ 46 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง คือ ประธานในที่ประชุม จากทั้งหมด 47 เสียง และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติ พร้อมพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ก่อนเสนอให้สภากทม.พิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ได้ทันตามกำหนดเวลา ซึ่งจะครบ 45 วัน ในสมัยประชุมสภากทม. เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. ถึงวันที่ 8 มี.ค. 2567 ...เรื่องนี้ถือว่า ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตัดสินใจดีแล้ว