เศรษฐกิจไทย วิกฤตไหม ความเหมาะสม ออก พ.ร.บ.กู้เงิน แจกเงินดิจิทัล

12 ม.ค. 2567 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2567 | 06:48 น.

เศรษฐกิจไทย วิกฤตแล้วหรือยัง เงื่อนไขในคำตอบ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนออก พ.ร.บ.กู้เงิน แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เปิดมุมมองเศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ กับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์

หลังจากคณะกรรมการตอบกลับประเด็นหารออก พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อใช้ขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย พร้อมข้อสังเกตทางกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไฟเขียว 

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เพื่อวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตพอจะออก พ.ร.บ.กู้เงินได้แล้วหรือยัง พร้อมทางแก้ปัญหา ทั้งในมุมเศรษฐศาสตร์ และการเมือง

อ.สมชายมองว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจึงทำให้สถานการณ์อยู่ในภาวะงงๆกันอยู่ แตกต่างกับช่วงแรกของกระแสข่าวในการเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ตลาดหุ้นติดลบ และมีกระแสของนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ 

พร้อมอธิบายถึง 4 มาตราที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 6,9,53 ,57 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังแบบสรุปว่า  รัฐบาลโดยปกติจะไม่มีการกู้เงิน  ยกเว้นกรณีที่จำเป็น จากวิกฤติต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นให้รัฐบาลพิจารณาด้วยตนเองเนื่องจากเป็นอำนาจของรัฐบาล  แต่ให้ไปปรึกษาหารือ กันอย่างรอบคอบ

สิ่งที่ควรจับตามองคือเรื่องนี้สาธารณะ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี หากมีการกู้เพิ่มอีกประมาณ 5 แสนล้านบาท จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 - 4% ทำให้หนี้สาธารณะไปอยู่ที่ 66 - 67% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าจีดีพีที่วิเคราะห์ไว้ถูกต้องหรือไม่ 

ซึ่งด้านหนึ่งจะเกิดความสบายใจหากหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ซึ่งการที่หนี้สาธารณะสูงเกินกว่า 60% ไม่ได้หมายความว่าหมายความว่าจะเกิดปัญหา เพราะอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา มีหนี้สาธารณะกว่า 120% ด้านสหภาพยุโรปหลังจากสถานการณ์โควิดได้อนุญาตให้ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร สามารถก่อหนี้สาธารณะได้เกิน 60% ซึ่งส่วนมากจะอยู่ที่ 100% และกำลังปรับลดลง ซึ่งก็ไม่ได้เกิดปัญหา 

ในประเทศสหรัฐอเมริกา อาจมีผลที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ปรับลดเรตติ้งจาก AAA เป็น AA+ แต่แทบจะไม่มีผลกระทบทางความรู้สึกต่อสหรัฐอเมริกา และมีอีกหนึ่งบริษัทที่ปรับ outlook จาก positive เป็น negative เป็นเพราะความไม่ไว้ใจในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งกันระหว่างรีพับลิกัน กับรัฐบาลอเมริกา จนเกิดการ shutdown เรื่องของเพดานหนี้

แต่สิ่งที่ต้องจับตามองหากหนี้สาธารณะสูงเกิน 60% นั่นคือความสามารถในการจัดเก็บรายได้ หรือหารายได้มาจ่ายคืน เช่น ในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่ล้วนมีหนี้สาธารณะในอัตราสูง แต่ไม่มีปัญหาเนื่องจากความสามารถในการจ่ายคืน

ฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำควบคู่กันไป คือการสร้างความมั่นใจให้ นักลงทุนต่างประเทศได้เห็นว่า มีมาตรการในเชิงโครงสร้าง, กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศวงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทยมากขึ้น  

มีการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย, การพัฒนาขีดความสามารถในการท่องเที่ยว, digital transformation สิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาในเชิงความรู้สึกได้ 

ฉะนั้นโดยตัว พ.ร.บ.กู้เงินเอง ไม่ได้มีปัญหา แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ อย่าให้เกิดการกระจุกตัวของรายจ่าย เช่น เมื่อทันนโยบายแจกเงินดิจิทัล ซึ่งมีอัตราหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 64-65% แล้ว แต่ต้องไม่มีรายจ่าย อื่นๆมาทับถม ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปอีก 

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการมีมาตรการเชิงโครงสร้าง มาตรการในการลงทุน เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตได้ดี 

ซึ่งการตีความว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศเข้าขั้นจำเป็นต้องออกพ.ร.บ. กู้เงินแล้วหรือไม่นั้น ต้องมองว่าเศรษฐกิจขยายตัวอย่างไร ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการขยายตัว 2% กว่า ซึ่งอัตราเฉลี่ยของการเติบโตเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ประมาณ 2.6% ในขณะที่อาเซียนอยู่ที่ 4.3% ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 9 หากเป็นเช่นนี้อาจถือว่าเศรษฐกิจประเทศไทยมีปัญหา ซึ่งนายกเรียกว่าวิกฤต ในขณะที่อีกมุมมองหนึ่ง เห็นว่าไม่มีปัญหาเพราะยังถึงขั้นติดลบ 

สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์จะมีความเห็นว่าไม่สมควรทำ ซึ่งเป็นการมองด้านเดียว แต่ในความเป็นจริงต้องพิจารณาครบทุกมิติ เพราะในแง่ของการเมือง เมื่อให้สัญญาประชาคมไปแล้วจะถอยไม่ได้

ซึ่งในมุมของนักวิชาการ ควรให้ข้อแนะนำว่าหากทำแล้ว มีประเด็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง ป้องกันได้อย่างไรบ้าง แต่ไม่สามารถชี้ขาดว่าควรทำหรือไม่ควรทำได้ เนื่องจากมีประเด็นทางการเมืองที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย