รายงานพิเศษ : ส.ว.จี้รัฐบาล“หาทางลง”แจกเงินดิจิทัลส่อล่มที่ศาลรธน.

10 ม.ค. 2567 | 14:48 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 14:56 น.

ครม.ยังไม่ถกปมแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท “สว.ตวง”แนะรัฐบาล“หาทางลง” เชื่อรู้อยู่แก่ใจพรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านไปต่อได้ยาก ส่อล่มที่ศาลรธน. ด้าน“กฤษฎีกา”ปัดไฟเขียว แค่แนะให้ทำตามเงื่อนไขก.ม. "จุรินทร์"จี้ชี้แจง 7 ประเด็นต่อสาธารณชน : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ภายหลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลได้รับคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับคำถามที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่า รัฐบาลโดย ครม. และคณะกรรมการแจกเงินดิจิทัลมีอำนาจตามกฎหมายที่ทำได้ แต่ต้องดำเนินการภายใต้มาตรา 53 และ 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

ทั้งนี้ มาตรา 53 ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติ ของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน

ส่วนมาตรา 57 การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะกระทําได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่าย ตามแผนงาน หรือ โครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม นอกจากนี้ กฤษฎีกาแนะนำให้การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท จะต้องเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน 

ต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 ว่า ที่ประชุม ครม.ยังไม่หารือเรื่องโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะต้องรอการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตก่อน ซึ่งตนต้องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย 

“ถ้าถึงเวลาอันสมควรจะเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบเอง และจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินแน่นอน ทุก ๆ เรื่องมีความหนักใจ เพราะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง รัฐบาลมีความพร้อมตอบข้อสงสัยทุก ๆ เรื่องจากทุกฝ่าย” 

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สิ่งที่กฤษฎีกาตอบมา ไม่ได้บอกว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่ให้ข้อเสนอแนะที่ต้องฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จึงต้องประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต เชื่อว่าโครงการไปต่อได้ ณ เวลานี้ยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม

จี้รัฐบาลหาทางลง

นายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการออกพ.ร.บ.เงินกู้ในลักษณะนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสุดท้ายเรื่องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ การออกพ.ร.บ.กู้เงินครั้งนี้ของรัฐบาลนายเศรษฐา เชื่อว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน

“สิ่งที่รัฐบาลต้องอธิบายให้ได้อันดับแรกคือ ที่ระบุว่าประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร เพราะถ้าดูจากตัวเลขงบประมาณ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ ขณะที่นายกฯ เดินสายเชิญชวนทุกประเทศทั่วโลกมาลงทุน แต่กลับบอกคนในประเทศว่าเรากำลังวิกฤติ” 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสถานการณ์ช่วงปีใหม่ การเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนกลับภูมิลำเนาคึกคักมาก อธิบายปรากฏการณ์ได้ว่าไม่ใช่ช่วงวิกฤติของประเทศ ไม่เหมือนช่วงสถานการณ์โควิด 19 หรือ ช่วงภาวะสงคราม มองว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ปกติ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยวิธีอื่น 

นายตวง กล่าวว่า การตีความตามความเห็นกฤษฎีกา ไม่ได้เป็นการบอกตรง ๆ ซึ่งมองว่า “กฤษฎีกาฉลาด” ขอให้ย้อนกลับไปดูความเห็นของกฤษฎีกาในอดีตทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่เคยบอกว่าโครงการไหนทำไม่ได้ แม้แต่การเขียนจดหมาย กฤษฎีกาจะไม่บอกว่าผิดหรือถูก อยู่ที่คนบริหารราชการแผ่นดินว่าจะใช้วิจารณญาณอย่างไร จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลว่าให้ยอมรับความจริง และทบทวน 

โครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กฤษฎีก็ไม่ได้บอกว่าผิด ถ้ารัฐบาล นายเศรษฐา จะเดินหน้าต่อ เชื่อว่าจะมีผู้ยื่นเรื่องร้อง ไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งฝ่ายค้านหรือภาคประชาชน ซึ่งศาลเคยวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้มาแล้ว 

“รัฐบาลอาจจะรู้อยู่แก่ใจว่า เป็นเรื่องยากและอาจจะมีธง หรือ อาจเป็นข้ออ้างเพื่อเดินหน้าต่อในทางการเมือง เพราะทุกเรื่องต้องมีทางลง เห็นใจรัฐบาลเหมือนกันว่าจะลงอย่างไร เพราะประกาศตั้งแต่หาเสียง ขึ้นอยู่กับว่าจะลงอย่างไรให้มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรี และสง่างาม ในอดีตทางที่คนเคยลงคือ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรู้คำตอบอยู่แล้ว” นายตวง กล่าว 

                         รายงานพิเศษ : ส.ว.จี้รัฐบาล“หาทางลง”แจกเงินดิจิทัลส่อล่มที่ศาลรธน.

แนะตีความวิกฤติเศรษฐกิจ  

ด้านนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า การที่กฤษฎีกามีความเห็นว่าสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข พ.ร.บ.การเงินการคลัง มาตรา 53 เกี่ยวข้องกับวิกฤติของประเทศ และมาตรา 57 เกี่ยวข้องกับความคุ้มค่าในการดำเนินการ

“คำว่าวิกฤติทั่วไปจะต้องเป็นกรณีเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจน และยาวนาน รวมทั้งประเทศเผชิญความยากลำบาก มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ ความรุนแรง ระยะเวลาการชะลอตัวที่ยาวนาน รวมถึงขอบเขตของผลกระทบเป็นวงกว้างและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในภาคส่วนต่างๆ 

และมีปัญหาความไม่มั่นคงทางการเงิน เช่น ความล้มเหลวของธนาคาร หรือราคาสินทรัพย์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจจะมองแค่ว่าการชะลอเศรษฐกิจหลายไตรมาสติดต่อกัน หรือเทียบระหว่างไตรมาสนี้ปีนี้กับไตรมาสนี้ของปีที่แล้ว ถ้าติดลบก็ถือว่าวิกฤติ จึงอยู่ที่คำนิยาม ว่าจะเป็นอย่างไร

“ขอเสนอว่าทางที่ดีรัฐบาลควรเรียกประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจของประเทศ การคลัง สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปรึกษา และตกลงกันว่าคำว่านิยามเศรษฐกิจ ตามความหมายของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เป็นอย่างไร ถึงขั้นวิกฤตหรือยัง เพราะถ้าไม่ให้ชัดเจนก็สุ่มเสี่ยงจะมีการโต้แย้งวิวาทะทางวาจาและทางคดีมากมาย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

“กฤษฎีกา”ปัดไฟเขียว 

ขณะที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวภายหลังประชุม ครม. ถึงเรื่องการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า  ยังไม่มีคำว่า “ไฟเขียว” เนื่องจากกฤษฎีกาตอบได้เพียงข้อกฎหมายเท่านั้น ซึ่งต้องดูว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 มีอะไรบ้าง โดยเงื่อนไขจะต้องเป็นเรื่องที่แก้ไขอย่างเร่งด่วน และต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่  

ส่วนข้อเสนอแนะที่ให้ไปมีอะไรบ้างนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีอะไร เป็นเพียงการอธิบายมาตรา 53 ที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ 
“เรายึดตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และ มาตรา 9 รวมทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฉะนั้นยืนยันว่า หากทำตามแล้วปลอดภัยแน่นอน” 

“จุรินทร์”จี้รัฐบาลตอบ 7 ปม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรเปิดเผยคำถาม คำตอบ ที่สอบถามกฤษฏีกาไป ไม่ควรเก็บเป็นความลับ เพราะเป็นการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ถึง 5 แสนล้านบาท ให้กับประเทศในอนาคต คนไทยทั้งประเทศควรมีสิทธิ์รับรู้ และไม่ว่ากฤษฎีกาจะตอบว่าอย่างไร กฤษฎีกาก็ยังเป็นแค่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล แต่การตัดสินใจเป็นของรัฐบาล

เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ หรือ ในทางกฎหมายตามมา รัฐบาลต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ตัดสินใจและในฐานะเจ้าของนโยบาย 

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร จะยังยืนยันเสนอ พ.ร.บ.กู้เงินอยู่หรือไม่ หมายความว่ ารัฐบาลจะตัดสินใจไปเสี่ยงเอาดาบหน้าหรือไม่ ซึ่งมีอย่างน้อย 7 ปม ที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบ ทั้งใน ข้อกฎหมาย และในทางเศรษฐกิจ คือ

1.จำเป็นหรือไม่ 2.เร่งด่วนหรือไม่ 3.ต่อเนื่องหรือไม่ 4.วิกฤติหรือไม่ 5.ไม่สามารถตั้งเงินก้อนนี้ไว้ในงบประจำปีได้ทันใช่หรือไม่ 6.มีความคุ้มค่าหรือไม่ และ 7. ได้รับฟังความคิดเห็นโดยรอบด้านแล้วใช่หรือไม่

...มารอดูกันว่า “รัฐบาลเศรษฐา” จะเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัลอย่างไร ยังจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เต็มวงเงิน 500,000 ล้านบาท ต่อไปหรือไม่ หรือ จะแก้ไขปรับลดวงเงินกู้ลงหรือไม่...