ด่วน! 31 ม.ค. 67 ศาลรธน.นัดชี้ชะตา“พิธา-ก้าวไกล”คดีแก้ ม.112

25 ธ.ค. 2566 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2566 | 12:53 น.

ศาลรธน.นัดแถลงการณ์ด้วยวาจา และลงมติคดี “พิธา” และ “พรรคก้าวไกล” คดีแก้ ม.112 ในวันพุธที่ 31ม.ค.67 เวลา 14.00 น. “พิธา-ชัยธวัช” มั่นใจใช้กระบวนการนิติบัญญัติ-ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ

วันนี้ (25 ธ.ค.66) ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยานบุคคลในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในขณะที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ 

หลังการไต่สวนประมาณ 2 ชม. นายธีรยุทธ  สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ กล่าวว่า พอใจการไต่สวน โดยไม่มีสิ่งใดที่ยังคาใจ เพราะศาลก็เป็นครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ซึ่งก็จะต้องรอคำวินิจฉัย โดยศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 31 ม.ค. 67 เวลา 14.00 น.

เมื่อถามว่าหากศาลวินิจฉัยในทางเป็นคุณกับผู้ร้องจะไปดำเนินการยื่นร้องให้มีการยุบพรรคก้าวไกลต่อหรือไม่

นายธีรยุทธ  กล่าวว่า ยังไม่ได้คิด เพราะโดยหลักของการมาศาลมีข้อกำหนดไว้ว่า จะปรารถนาอย่างอื่นเกินกว่าที่ยื่นคำร้องไว้ไม่ได้ ถ้าศาลเห็นว่า เราปรารถนายิ่งกว่าที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลไว้ ท่านก็อาจจะไม่ให้ความเห็นอย่างอื่นได้ 

ตามคำร้องของตน คือ ปรารถนาเพียงว่า ให้เกิดการหยุดการกระทำ ยกเลิกที่จะเปิดช่องทางให้มีการก้าวล่วงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามคำร้อง จึงไม่ได้ขอให้มีการยุบพรรค

เพราะประเด็นปัญหาตามคำร้องที่ยื่นไประบุว่า การที่จะมีช่องทางใดก็ตามที่จะไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจขยายวงกว้างได้ในภายหน้า คิดว่าควรที่จะมีการยับยั้ง ซึ่งโดยอำนาจตนเองหรือประชาชนไม่สามารถทำได้แต่ต้องเป็นศาลรัฐธรรมนูญ 

                              ด่วน! 31 ม.ค. 67 ศาลรธน.นัดชี้ชะตา“พิธา-ก้าวไกล”คดีแก้ ม.112

ส่วน นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  อดีตหัวหน้าพรรค ทันทีที่เดินลงมา ก็มีบรรดาแฟนคลับเข้าไปห้อมล้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจจำนวนม่ก

นายชัยธวัช กล่าวว่า การไต่สวนเป็นไปด้วยดี ยังมั่นใจว่า ตามข้อเท็จจริงตามกฎหมายและเจตนาของเรา สามารถชี้ได้ว่าไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง และก่อนหน้านี้ได้ทำคำชี้แจงในประเด็นสำคัญๆ ยื่นมาแล้ว วันนี้หลักๆ มาตอบคำถามที่ตุลาการซักถามเพิ่มเติม ซึ่งมีหลากหลาย พูดได้ไม่หมด โดยศาลไต่สวนตนและนายพิธาคนละรอบ และแจ้งว่านัดฟังคำวินิจฉัยคดีนี้ในวันที่ 31 ม.ค.67 

"ยังเชื่อมั่นเหมือนเดิม ว่าการเสนอร่างกฎหมายโดยการใช้กระบวนการนิติบัญญัติ และแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงกฎหมายอาญา หมิ่นประมาท เรายังมั่นใจว่า ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้

ทั้งนี้การเสนอร่างใดๆ มีกระบวนการของสภาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวาระที่ 1 วาระที่ 2 วาระที่ 3 ซึ่งต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ ต้องใช้กรรมาธิการในการคัดกรองพิจารณาเนื้อหาซ้ำอีกครั้ง ยังมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด่วยรัฐธรรมนูญก่อนผ่านสภา ก่อนประกาศใช้จะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น การเสนอกฎหมายไม่มีทางนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้" 

ด้าน นายพิธา กล่าวว่า วันนี้ยังมั่นใจและพอใจ ที่ได้แถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตอบข้อสงสัย ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกสิ่งที่ตั้งใจมาเป็นไปตามความคาดหมาย มั่นใจว่าข้อเท็จจริง ข้อเสนอแก้ไขทางนิติบัญญัติไม่ได้มาจากพรรคเราเป็นพรรคแรก

แต่เคยมีทั้งในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์  ก็ดีรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เช่นเรื่องแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในช่วงปี 2563-2564 ตอนนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคเดียว ดังนั้นน่าจะยืนยันได้ในเรื่องของเจตนาว่า ไม่ได้มีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง 

เมื่อถามว่าหากผลการตัดสินออกมาเป็นคุณทั้ง 2 คดีจะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไรก็ยังทำงานกับพรรคก้าวไกล ในส่วนของบทบาทใรพรรคก้าวไกลก็ต้องรอเดือน เม.ย. 2567 ที่จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญใหญ่ ส่วนตัวไม่ได้ยึดติดอะไร สามารถทำงานการเมืองได้ทุกรูปแบบ ไม่กังวลใจยังสามารถทำงานต่อได้

ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 ยังจะสามารถเป็นนโยบานหาเสียงครั้งต่อไปได้หรือไม่  นายพิธา กล่าวว่า  นโยบายเป็นของสส.ชุดที่แล้ว เป็นเอกสิทธิ์ของสส.ชุดที่แล้ว ตอนนี้เป็นสส.ชุดใหม่ ซึ่งยังไม่ได้มีการหารือพูดคุยในกันในพรรคว่า ปัจจุบัน อนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ก็ยังเป็นข้อพิพาทในศาลรัฐธรรมนูญอยู่ 

เมื่อถามต่อว่า หากศาลวินิจฉัยให้ยุติ ยกเลิกนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อจุดยืนการทำงานของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องรอคำวินิจฉัยที่จะออกมาก่อน เป็นเรื่องของสส.แต่ละคน ดูสถานการณ์บริบทของบ้านเมืองซึ่งแตกต่างกันไป

"ตอนที่เรายื่นตอนนั้นก็ต้องเข้าใจว่า บริบทการเมืองตอนนั้นมีการใช้ความรุนแรง มีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นจากหลักสิบเป็นหลักร้อยเป็น 268 คดี ในปี 2563 มีเยาวชน 20 กว่าคนถูกดำเนินคดี

ดังนั้น ในปี 2564 เราจึงคิดว่า นี่เป็นทางออกของการเมืองตอนนั้น ดังนั้นหลายเรื่อง หลายๆ เวลา ต้องดูว่าสิ่งสำคัญในระบบยุติธรรมคือการได้สัดส่วน เมื่อมีการละเมิดสิทธิ์ก็ต้องใช้ทางออกในรัฐสภาที่เรายึดถือณ ตอนนั้น ตอนนี้ก็ต้องแล้วแต่สส.แต่ละคน และสถานการณ์" 

เมื่อถามว่าประเมินตัวเองหลังไต่สวนให้กี่คะแนน นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ตอบเป็นตัวเลขแต่พอใจ หากย้อนกลับไปได้เท่าที่ตัวเองคิดตอนนี้ ก็คิดว่าไม่มีอะไรอยากจะทำเพิ่ม ทำเต็มที่แล้ว ตอนนี้ต้องรอคำพิพากษา ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ปากคำ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ 4-5 ท่าน มาให้ความเห็น ส่วนรายละเอียดให้ความเห็นอย่างไรนั้นไม่สามารถบอกได้

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยาน รวม 2 ปาก คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ นายชัยธวัช ตุลาธน โดยตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน ศาลนัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุม ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 31 ม.ค.67 เวลา 09.30 น. กับนัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น.