วันนี้(21 ก.พ. 68) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นำโดยประธานและรองประธานวุฒิสภาแถลงตอบโต้ถึงการรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้งวุฒิสภา ว่า ขณะนี้ดีเอสไอได้ตั้งคดีสืบสวนไว้แล้ว ซึ่งถ้าอยู่ชั้นสอบสวนที่ไม่อยู่ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ก็จะต้องนำเข้าเป็นคดีพิเศษในฐานความผิดอาญาอื่น แต่ต้องมีลักษณะเป็นความผิดที่ทำเป็นกระบวนการ หรือเป็นองค์กร มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงเป็นผู้ที่มีอิทธิพล
“ถ้าเข้าเกณฑ์ในลักษณะนี้นั้น ดีเอสไอสามารถทำได้ทุกคดี แต่ถ้าคดีนั้นเป็นคดีที่เกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เขาก็จะดึงไป หรือถ้าคดีนั้นเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะดึงเฉพาะส่วนฐานความผิดฐานเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว.ไป”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ขณะนี้เนื่องจากเคยมีการแจ้งไปยัง กกต.แล้วว่ามีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ ว่าการเลือก สว.ครั้งดังกล่าวมีการกระทำเข้าข่ายความผิดทั้งกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.และผิดกฎหมายอาญาหลายมาตรา
โดยเราแจ้งไปหลายครั้ง แต่ปรากฏว่าจนถึงวันนี้ กกต.เพิ่งตอบกลับหนังสือมาใหม่ว่า เนื่องจากมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ระบุว่าจะต้องเป็นการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอไม่ได้รับเรื่อง เนื่องจากมีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ คือ มีการทำโพย และมีการฮั้วกัน
"ผู้มาร้องได้มาพบกับผม และมีการนำโพยมาให้ ว่ากลุ่มที่ 1 หมายเลขนั้นหมายเลขนี้ฮั้วกัน จนถึงหมายเลข 20 ผมได้ถามว่าชื่อหมายเลขนั้นของกลุ่มนี้คือใคร จะพบว่าเป็น สว.อยู่ประมาณ 138 คน และ สว.ลำดับสำรองอยู่ 2 คน โดยเป็นพยานเอกสารซึ่งไม่มีใครทำได้ อย่างไรก็ตาม เขาก็ต้องมาให้การกับดีเอสไอ
กราบเรียน สว.ว่า เราเคารพท่าน และดีเอสไอทำงานให้ความยุติธรรมคน ไม่อคติ และตรงไปตรงมา ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนคิดว่าผู้ร้องได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในนิติบัญญัติ ถือว่าเป็นอำนาจของความมั่นคง เมื่อเข้าในชั้นคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จะต้องพิจารณาว่ามีมูลพอสมควรหรือไม่
เพราะการสอบสวนเราจะต้องเชิญคนนอก เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยในการตรวจสอบพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญบางคนมาให้การว่า ถ้าไม่มีการฮั้วกันจะเป็นแบบนี้ไม่ได้ ถ้าจะเลือกคน 10 คน ก็ควรสลับกันบ้าง แต่นี่ไม่สลับกันเลย ลำดับตรงกับโพย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสงสัย ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการเมืองอะไรทั้งสิ้น และเป็นคนที่เคารพกันทั้งนั้น" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
เมื่อถามว่าขณะนี้เรื่องได้เข้าสู่การรับเป็นคดีพิเศษแล้ว หรือกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า คณะกรรมการคดีพิเศษ มีอยู่ 21 คน ซึ่งแต่ละคนไม่มีใครที่จะล็อบบี้ได้ มีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งมาจากหลากหลายที่ เช่น อัยการสูงสุด สำนักงานกฤษฎีกา นายกสภาทนายความ และ ผบ.ตร.ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าจะรับเรื่องหรือไม่
แต่ขอให้พนักงานสอบสวนทำอย่างตรงไปตรงมา เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ อยากให้บอกว่าเป็นคดีปกติคดีหนึ่ง แต่ถ้าท่าน สว.ไม่สบายใจจะเชิญตนมาชี้แจงก็ได้ ทั้งนี้ จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ต้องให้พยานหลักฐานเป็นผู้กำหนด
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน คนอยู่ต่างถิ่นต่างที่ของประเทศมารวมกันได้อย่างไร มานอนโรงแรมเดียวกันได้อย่างไรก็เป็นสิ่งที่เขาจะต้องมาตอบ ซึ่งหลักฐานบางส่วนเราได้มาแล้ว”
ส่วนการรับเรื่องในครั้งนี้ทำให้ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา ระบุว่า อาจจะขออนุญาตเข้าชื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ต.อ.ทวี ในสภาฯ ด้วยนั้น รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ตนก็ยินดี
พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า ดีเอสไอไม่ได้ทำเรื่องที่มีความผิดเกี่ยวกับ กกต. ซึ่งถ้าเราเห็นก็ส่งให้กกต.ดำเนินการ แต่บางเรื่อง กกต.เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญก็อาจจะมาร่วมกับดีเอสไอก็ได้ ส่วนความผิดฐานอื่น เช่น เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรือใดๆ นั้น กกต.ไม่มีอำนาจดำเนินการ