ฮือฮา นโยบายแก้หนี้ครู "เพิ่มพูน" รมว.ศธ. แนะไปงานบุญ ช่วยล้างจานแทนใส่ซอง

14 ก.ย. 2566 | 18:07 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 18:34 น.
1.4 k

ส่องนโยบาย "เพิ่มพูน ชิดชอบ" รมว.ศึกษาธิการ ลุยแจกแท็บเล็ตทั้งครูและนักเรียน หวังลดความเหลื่อมล้ำ ยกตัวอย่าง "แก้หนี้ครู" แนะอยู่แบบพอเพียง ไปช่วยงานบุญ ให้ล้างจาน แทนการใส่ซอง ไปสอนก็รวมรถกันไป

วันที่ 14 กันยายน 2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชุมมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย "เรียนดี มีความสุข" โดยภายใต้นโนบายดังกล่าว จะแบ่งออกเป็นหัวข้อหลักๆ 1. การลดภาระครู และบุคลากรทางการศึกษา 2. การลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา

  • ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
  • ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น (โยกย้ายกลับภูมิลำเนา ด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง)
  • แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
  • จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ(1 ครู 1 Tablet)

ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง

  • เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 Tablet)
  • 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ
  • ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต
  • การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ
  • การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศไม่ต้องเสียเวลาในระบบประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย
  • มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมมอบนโยบายการศึกษา

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะในหัวข้อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ที่จะต้องให้ความเข้าใจ ให้ความรู้ ซึ่งอาจจะต้องใช้วิทยากรภายนอก เพื่อจะรู้จักออม รู้จักใช้เงิน โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาหนี้สินของตำรวจในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางที่ได้ทำก็สามารถแก้ไขได้ระดับหนึ่ง 

"กระบวนการในการช่วยก็คือ ต้องศึกษาปัญหาต่าง ๆ เพื่อช่วยกัน อย่างค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างเช่น เวลาจะไปสอนบางทีอาจจะรวมรถกันไปสอน และก็อยู่ในความพอเพียง ผมเข้าใจว่าบางทีปรัชญา ความเป็นหน้าเป็นตา เรียกคุณครู เวลาจะไปงานแต่งงาน ไปงานอะไรก็ต้องใส่ซอง 200 บาท ตำรวจโชคดีหน่อยใส่ 20 บาทก็ได้ไม่เป็นไร  เป็นตำรวจธรรมดา อันนี้เราก็ต้องพยายามแก้ค่านิยมเรื่องนี้ ก็อยู่แบบพอเพียงมี 20 ก็ใส่ 20 ไม่มีเงินก็ไม่เป็นไร ไปงานเขา ก็ไปช่วยเขาล้างจาน ก็เป็นเกียรติแล้ว ต้องเปลี่ยนค่านิยมพวกเราในการอยู่อย่างพอเพียง อันนี้ก็ถือเป็นเรื่องหนึ่ง"

 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีกลุ่มที่มีปัญหาหนี้สินครู จะแบ่ง 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง สีแดง 

  • สีเขียว คือ ผู้ที่มีสภาพคล่องในการแก้ไข
  • สีเหลือง คือ ผู้ที่มีหนี้สินบ้างเล็กน้อย
  • สีแดง คือ ผู้ที่มีหนี้เอ็นพีแอล หนี้เสีย 

 

"ในส่วนของกลุ่มสีแดง เราจะทำอย่างไรไม่ให้เขาถูกฟ้องล้มละลาย อาจจะคุยกับเจ้าหนี้ เพื่อลดหย่อนพักหนี้ ลดต้นลดดอก เพื่อให้ชำระได้ เพราะหากออกจากราชการ ก็จะชำระไม่ได้  ตรงนี้ก็จะมีคณะทำงานก็คุยรายละเอียดกันอีกที  นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องพักดอกเบี้ยให้กับครู มีแนวความคิด แต่เราอาจจะดำเนินการเองไม่ได้  อาจจะต้องนำเรียนนายกรัฐมนตรีในการผลักดัน และอาจจะคุยกับสถาบันการเงินเพื่อคุยปรับลดดอกเบี้ย หรือการออกบอนด์ ต้องวิน-วิน ทุกคนต้องช่วยกัน ตรงนี้เป็นแนวคิดที่ต้องการบอกทุกคน"


รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน ถ้างบไม่พออาจจะของบกลาง รัฐบาล หรือ ภาคเอกชน ส่วนเรื่องอื่น การหาแท็บเลต จะต้องมีประสิทธิภาพ ต้องสามารถเชื่อมโยงระบบออนไลน์ได้ และการบูรณาการความร่วมมือเอกชนผู้เป็นเจ้าของสัมปทานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และภาครัฐเพื่อดูแลเรื่องอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการสอน 


กระทรวงศึกษา ประชุมมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อน