ต.ค.นี้ มีลุ้น “สุริยะ” ชง ครม.ไฟเขียวนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

14 ก.ย. 2566 | 13:23 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 14:13 น.

“สุริยะ” เดินหน้าชงครม.ไฟเขียวนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ภายในเดือนต.ค.นี้ เตรียมนำร่องสายสีม่วง-สายสีแดง คาดเริ่มใช้ช่วงปีใหม่ 67 เล็งถกเอกชน ปิดดีลภายใน 2 ปี ฟากกรมรางคาดรัฐชดเชยรายได้ 136 ล้านบาทต่อปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นั้น หลังจากการมอบนโยบายครั้งนี้ ตนจะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาแนวทางปฏิบัติในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ตลอดจนประเมินผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ คาดว่าจะได้ข้อสรุปพร้อมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ หรือภายในเดือน ต.ค.นี้

 

“ต้องพิจารณาด้วยว่าการจะดำเนินการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้นจะมีผลต่อหนี้สาธารณะหรือไม่ หากมีผลก็ต้องตอบคำถาม ครม.ให้ได้ว่าเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร คาดว่าถ้าเรื่องนี้จบภายใน 2 – 3 สัปดาห์นี้ก็จะเสนอขออนุมัติจาก ครม.และดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน”
 

สำหรับการผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติในโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น กระทรวงฯ มีเป้าหมายจะต้องผลักดันให้เกิดภายใน 2 ปี ครอบคลุมทุกเส้นทางรถไฟฟ้าทุกสายจะต้องมีอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเรื่องนี้ต้องเรียกเอกชนคู่สัญญาสัมปทานมาเจรจาโดยเร็วที่สุด และต้องหารือด้วยว่าเมื่อการปรับลดค่าโดยสาร จะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดรายได้ของเอกชนจะเพิ่มขึ้น จะแบ่งปันผลประโยชน์แก่รัฐอย่างไร

 

ส่วนการเจรจาร่วมกับเอกชนนั้น จะต้องเจรจาทั้งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รวมไปถึงบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ร่วมลงทุนและบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
 

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า จากผลศึกษานโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พบว่าจะสูญเสีบรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนรวม 136 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง 80 ล้านบาทต่อปี และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 56 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นและทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 10% และคาดการณ์ว่าเมื่อดำเนินนโยบายถึง 2.8 ปี จะทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายมีรายได้กลับมาเท่าเดิม โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย