TDRI ชี้ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ไม่คุ้มค่า ไม่ยั่งยืน

13 ก.ย. 2566 | 08:23 น.
1.3 k

นักวิชาการ TDRI วิเคราะห์นโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย"ใช้งบอุดหนุน 6,000-9,000 ล้านบาท ชี้ไม่คุ้มค่า ไม่ยั่งยืน แนะปรับระบบค่าโดยสารร่วมระยะยาว ตามสถานการณ์ และงบประมาณ

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ซึ่งนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ได้รับการชี้แจงจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมต.คมนาคม ว่าจะมีการศึกษาโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้นคนกรุงจะได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายทันที

โดยเบื้องต้นภายใน 3 เดือน จะดำเนินการปรับค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่เดินรถโดยภาครัฐ ให้เป็น 20 บาท ตลอดเส้นทาง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนในปี 2567

คลิกอ่าน “สุริยะ” นำร่องรถไฟฟ้า 2 สาย จ่ายค่าโดยสาร 20 บาท รับของขวัญปีใหม่ 67

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ TDRI ถึงการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยดร. สุเมธ ให้ความเห็นว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่มีการพิจารณาถึงค่าโดยสารที่มีปัญหา

"20 บาทตลอดสายเหมาะเป็นราคาโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นการใช้รถไฟฟ้า มากกว่าจะเป็นราคาระยะยาว เป็นราคาที่ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนการดำเนินงานรถไฟฟ้า แต่ควรแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างราคาค่าโดยสารในปัจจุบันมากกว่า เช่น ราคา50 บาทขึ้นได้ 3สาย เพื่อการแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าในระยะยาว"  ดร. สุเมธ กล่าว

พร้อมตั้งข้อสังเกต ต่อการดำเนินนโยบายว่า ราคา 20 บาทตลอดสาย ไม่ใช่ราคาที่ยั่งยืนในระยะยาว แต่ควรหาราคาที่เหมาะสม เพื่อสามารถดำเนินการได้ในระยะยาว และตอบโจทย์การเดินทางของคนในกรุงเทพฯต่อไป

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ เรื่องของระบบตั๋วโดยสาร ที่ถือเป็นข้อจำกัด เนื่องในปัจจุบันรถไฟฟ้าแต่ละสาย มีการใช้มีระบบตั๋วของตัวเอง หากคิดราคา 20 บาทตลอดสายแบบข้ามสายกัน ต้องมีระบบตั๋วร่วม ซึ่งการทำระบบนั้นใช้เวลาไม่นานมาก อาจอยู่ในกรอบ 3เดือน ,6 เดือน หรือ 1 ปี แต่มีค่าใช้จ่าย คำถามคือ ใครเป็นผู้จ่ายค่าทำระบบ

ดร. สุเมธ กล่าวต่อไปว่า ข้อจำกัดที่สำคัญ อีกหนึ่งประการคือ ค่าโดยสาร ซึ่งในปัจจุบัน มีการเก็บค่าโดยสารตามที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน ซึ่งส่วนใหญ่สูงกว่า 20 บาท ดังนั้นภาครัฐจึงต้องมีการชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารจากสัญญาสัมปทาน มูลค่าประมาณ 6,000 - 9,000 ล้านบาทต่อปี 

สิ่งที่ภาครัฐจะได้กลับคืนมาจากการดำเนินนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนี้ ดร. สุเมธ มองว่า จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 10% และสามารถแก้ปัญหารถติดได้เล็กน้อย เพราะคนยังใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอยู่ รวมถึงภาครัฐเองยังมีการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เช่น การลดราคาน้ำมัน หรือ นโยบายรถ EV เป็นต้น เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาประเมินถึงความคุ้มค่าในการดำเนินนโยบาย เพราะได้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย

สุดท้าย ดร. สุเมธ ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับการดำเนินนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายไว้ว่า การแก้ปัญหาเรื่องค่าโดยสารนั้น ควรต้องคำนึงถึงระยะยาว โดยมีระบบค่าโดยสารร่วมในราคาที่เหมาะสมกับ สถานการณ์ และงบประมาณ 

ตัวอย่างในต่างประเทศที่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะนั้น ไม่ใช่การลดค่าโดยสารเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการจำกัดการใช้รถส่วนบุคคลด้วย เช่น การห้ามจอดเพื่อให้การใช้รถส่วนบุคคลไม่ได้รับความสะดวกสบาย การเก็บค่าที่จอดรถในเขตเมืองด้วยราคาแพง หรือการเก็บค่าเข้าเมือง เป็นต้น

ด้านรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสัญญาสัมปทานที่มีอยู่เดิม และ ไม่สร้างปัญหาใหม่จากการเซ็นสัญญาสัมปทานใหม่ ที่มีการกำหนดราคาค่าโดยสารที่ไม่สอดคล้องกับนโยบาย

ทั้งนี้ ดร. สุเมธ ได้เน้นย้ำว่า การใช้เงินอุดหนุนนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คือการใช้เงินภาษีของประชาชน จึงต้องมีขีดจำกัด และต้องหารรายได้อื่นของรัฐมาจุนเจือ เช่น อาจมีการขึ้นภาษีน้ำมัน แล้วนำเงินในส่วนนี้มาจ่ายอุดหนุนระบบขนส่งมวลชน ก็น่าจะมีความคุ้มค่า แต่หากเป็นการนำเอาภาษีตรงกลางมาใช้เพื่ออุดหนุน จะทำให้ความคุ้มค่าของการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ลดลงไปเรื่อยๆ