ด่วน! ศาลรธน. สั่ง "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" หยุดปฎิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม

03 มี.ค. 2566 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2566 | 12:52 น.
8.5 k

ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ หยุดปฎิบัติหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566  กรณีมีหุ้นอยู่ใน บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น

3 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงหรือไม่  

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ความเป็นมา

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1)

เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 

ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แจ้งให้คู่กรณีและนายกรัฐมนตรีทราบ