กกต.คลอดหลักเกณฑ์ ปชช.เข้าชื่อชง ครม.ทำประชามติ

16 พ.ย. 2565 | 13:01 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2565 | 20:15 น.

กกต.คลอดหลักเกณฑ์ ประชาชน เข้าชื่อเสนอ ครม.ทำประชามติ ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นชื่อ ระบุเนื้อหาให้ชัด-ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามตามกกต.

สำนักงานกกต.ได้เผยแพร่ประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2565 ที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ลงนามเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ อาทิ

 

กำหนดให้การเข้าชื่อเสนอต่อ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ ต้องมีจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 คน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และไม่ถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 20 มาตรา 21 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 

 

การเสนอเรื่องการเข้าชื่อฯ ให้จัดทำเป็นเอกสารและข้อมูล โดยหนังสือกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอ ต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจน เพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่า  ประสงค์จะออกเสียงในเรื่องใด และเรื่องนั้นมิใช่เรื่องที่ต้องห้ามมิให้ออกเสียง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 
 

 

 

นอกจากนั้น ในส่วนของรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อ ต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ ชื่อสกุล และลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทุกคน โดยให้จัดทำในรูปแบบ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ใส่แผ่นบันทึกข้อมูล หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลแบบพกพา

 

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.

ในการดำเนินการให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิ เข้าชื่อยื่นเอกสารและข้อมูลด้วยตนเอง ต่อสำนักงาน กกต. หรือสำนักงานกกต.ประจำจังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Email : [email protected])

 

เมื่อสำนักงาน กกต. ได้รับเอกสารและข้อมูล ให้ตรวจสอบรายละเอียดในหนังสือการเข้าชื่อฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสาร ซึ่งในกรณีที่ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้แจ้งผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อ พร้อมทั้งส่งเรื่องคืนเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วน และยื่นต่อสำนักงาน กกต.ตามวิธีการที่กำหนดภายใน 60 วัน

 

 แต่หากผู้แทนของผู้มีสิทธิ เข้าชื่อดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้การเสนอเรื่องการเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง เป็นอันยุติในคราวนั้น

 

ทั้งนี้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อมีสิทธิถอนการร่วมเข้าชื่อได้ ภายใน 10 วันนับแต่วันที่สำนักงาน กกต.ได้รับเอกสาร โดยให้ทำเป็นหนังสือซึ่งมีรายละเอียด เกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ ชื่อสกุล และข้อความที่แสดงให้เห็นว่า ตนประสงค์จะถอนการร่วมเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมลงลายมือชื่อโดยให้ยื่นเอกสารด้วยตนเองต่อสำนักงาน กกต. หรือสำนักงานกกต.ประจำจังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ 

 

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบรายละเอียด ในหนังสือการเข้าชื่อฯแล้วเสร็จ ให้สำนักงาน กกต. ส่งเอกสารให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณามอบหมายหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ ในการออกเสียง ดำเนินการตรวจสอบการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อว่า มีความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

 

หากตรวจสอบแล้วพบว่า เลขประจำตัวประชาชน ของผู้มีสิทธิเข้าชื่อผู้ใดไม่ถูกต้อง ให้หักออก หากยังมีผู้มีสิทธิเข้าชื่อครบจำนวน 50,000 คน  ให้ดำเนินการต่อไป แต่หากผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่ครบจำนวน ให้รายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อยุติการเสนอเรื่อง และให้แจ้งผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อ พร้อมทั้งส่งเรื่องคืนให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อ และแจ้งสำนักงาน กกต. ทราบ

 

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ ถอนการร่วมเข้าชื่อเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด หรือตรวจพบว่าผู้มีสิทธิเข้าชื่อตายภายหลังจากที่ได้เข้าชื่อแล้ว ให้ถือว่าการร่วมเข้าชื่อของผู้นั้นยังคงมีผลอยู่ ในส่วนของ การเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานของรัฐ จัดทำความเห็นและวิเคราะห์ ผลกระทบในเรื่องที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง

 

โดยมีระยะเวลาในการตรวจสอบ การเข้าชื่อ รูปแบบรายงานความเห็นและการวิเคราะห์ ผลกระทบฯ ให้เป็นไปตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนด ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้ กกต. เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของ กกต.ให้ถือเป็นที่สุด