เปิด อุดมการณ์ ปชป.10 ข้อ ที่ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” รัก แต่วันนี้ อำลา

28 ต.ค. 2565 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2565 | 00:07 น.
802

เปิด อุดมการณ์ พรรคประชาธิปัตย์ 10 ข้อ ที่ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” รัก แต่วันนี้ อำลา ข้อไหนที่ต้องแก้ พร้อมส่องวิสัยทัศน์พรรคใหม่ที่ตรงใจกว่า

จากกรณีที่  นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นอีกครั้ง ที่พรรคประชาธิปัตย์ เกิดเหตุการณ์เลือดเก่าไหลออก

 

โดยเหตุผลในการตัดใจปิดตำนาน 38 ปี กับพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายไตรรงค์ ได้ เปิดเผยไว้ในเฟสบุ๊คส่วนตัว ในบางช่วงตอน ถึงอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ที่ตนเองรักว่า “ผมลาออก ทั้งๆที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์อยู่ แต่ผมไม่ได้รักที่ตัวตึก หรือตัวบุคคล ผมไม่เคยยึดมั่นในสิ่งลวงตาเหล่านั้นที่ผมรักก็คือ อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ประกาศไว้ในวันก่อตั้งพรรคเมื่อปี พ.ศ.2489 จึงได้เข้าเป็นสมาชิกมาตลอดเวลา 38ปี"

ทีมข่าวฐานเศรษฐกิจ ได้เปิดอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่นายไตรรงค์รัก ทั้ง 10 ข้อ เปรียบเทียบกับ ข้อคิดเห็นของนายไตรรงค์ที่ว่าควร ปรับปรุงให้สอดคล้อง กับยุคสมัยและบริบทปัจจุบัน 

อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์” ที่ได้ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 

  1. พรรคจะดำเนินการเมืองโดยวิถีอันบริสุทธิ์
  2. พรรคจะดำเนินการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน
  3. พรรคจะดำเนินการเมืองโดยอาศัยหลักกฎหมาย และเหตุผลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชน รุ่นหลังให้มีความนับถือ และนิยมในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  4. พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ

ข้อนี้ นายไตรรงค์เห็นว่า “ต้องเขียนใหม่ให้ชัดว่าไม่ใช่เฉพาะเผด็จการทหาร แต่หมายรวมถึงเผด็จการรัฐสภาด้วย”

เปิด อุดมการณ์ ปชป.10 ข้อ ที่ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” รัก แต่วันนี้ อำลา

 

  1. พรรคจะกระจายอำนาจการดำเนินการในท้องถิ่นให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้เนื่องจากความใกล้ชิด ขององค์กรในท้องถิ่นมีมากกว่าส่วนกลาง
  2. พรรคมีจุดประสงค์ที่จะให้คนไทยมี ที่ทำกิน-ที่อยู่และอาชีพ และจะเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่มิได้ละเลยที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
  3. พรรคเชื่อว่า การแทรกแซงของรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็น ในกิจการที่เห็นว่าการแทรกแซงจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น กิจการสาธารณูปโภค
  4. พรรคจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่ง การศึกษา, ศาสนา, สาธารณสุขและสาธารณูปการ, ศิลป,วรรณกรรม, จารีต ประเพณี, ธรรมเนียมอันดีของชาติ และความปลอดภัยของประชาชน
  5. พรรคเชื่อว่า การป้องกันประเทศนั้น ต้องอาศัยการก่อให้เกิดความร่วมมือพร้อมเพรียง ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของ ประเทศ และจะต้องให้มีการบำรุง กำลังหลัก คือ กองทัพให้ทันสมัยทั้งคุณภาพ และปริมาณเท่าที่จะเหมาะสมแก่แผนการ ทางยุทธศาสตร์ และนโยบายทางการเมือง
  6. พรรคจะส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างประเทศ

ข้อนี้ นายไตรรงค์เห็นว่า “ในนโยบายต่างประเทศต้องเขียนใหม่ให้ชัดว่าเราจะเป็นมิตรกับทุกประเทศแม้ว่าระบอบการเมืองการปกครองจะแตกต่างจากของของเราที่กำลังใช้อยู่ เป็นต้น แต่ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้อธิปไตยของชาติต้องถูกครอบงำโดยประเทศอื่นอย่างเด็ดขาด”


ทั้งนี้ จากกระแสข่าวก่อนหน้า ว่า นายไตรรงค์ เตรียมจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไปร่วมทำการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นั้น เมื่อครั้ง

 

ประชุมใหญ่พรรค รทสช. นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ต่อบรรดาสมาชิกพรรค หลังจากได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคว่า ““เราจะไม่ทำให้ประชาชนและประเทศไทยผิดหวังในพรรครวมไทยสร้างชาติ” และ “จะสร้างรวมไทยสร้างชาติให้เป็นพรรคหลักของประเทศ นำพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยความมั่นใจ มั่นคง และจะชนะให้ได้มากที่สุด” และ กล่าวเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันค้ำจุนปกป้องเสาหลัก 3 ประการของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจของทุกคนในความเป็นชาติ ความเป็นคนไทย